X
ปลุกทุกองค์กรเร่งสร้างบุคลากรดิจิทัล สู้ภัยคุกคาม AI

ปลุกทุกองค์กรเร่งสร้างบุคลากรดิจิทัล สู้ภัยคุกคาม AI

19 เม.ย 2567
1280 views
ขนาดตัวอักษร

นายพชร นริพทะพันธุ์ ที่ปรึกษาประจำประธาน กสทช. ร่วมเวทีสัมนา NEXT STEP THAILAND 2024 : Tech & Sustain เมื่อเร็วๆนี้ โดยมีภาคธุรกิจและองค์กรต่างๆ ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก เพราะทุกฝ่ายตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงทั้งบวกและลบจากนวัตกรรม AI ในปี 2024 และอนาคต

.

นายพชร กล่าวในหัวข้อ “AI ต่อภัยโครงสร้างพื้นฐานการกระจายเสียง การสื่อสาร และโทรคมนาคมของประเทศไทย” ว่า ปัจจุบันผู้บริหารทุกองค์กรต้องหันมาให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยเฉพาะการเติบโตของ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) แม้เป็นนวัตกรรมที่ออกแบบมาช่วยมนุษย์หลายด้าน แต่ก็เป็นภัยคุกคามต่อธุรกิจ สังคม และความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ดังนั้น ทุกคนมีหน้าที่ช่วยรัฐบาลปกป้องประชาชนจากภัยเหล่านี้ให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด


รายงานของ World Economic Forum (WEF) 2024 เรื่องภัยความมั่นคงทางไซเบอร์ ระบุว่า มีภัยทางออนไลน์อย่างน้อย 5 เรื่องเกิดจาก AI ประกอบด้วย การส่งข้อมูลผิดๆเพื่อให้คนหลงเชื่อ (Misinformation) การสร้างข้อมูลให้เกิดความสับสน (Automated disinformation) การสร้างภาพและเสียงให้คนหลงเชื่อ (Deepfakes) การโฆษณามุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมาย (Targeted advertising) และการจัดการระบบประมวลผลในโซเชียลมีเดีย (Algorithmic manipulation of social media)

.

“สังคมมีทั้งคนดีและผู้ร้ายเสมอ ดังนั้น นวัตกรรม AI ก็เป็นผู้ช่วยได้ทั้งคนดีและผู้ร้าย” นายพชร สะท้อนว่า จากการสำรวจของ WEF ผู้บริหารส่วนใหญ่ร้อยละ 90 มองว่าสังคมยังมีช่องโหว่ด้านบุคลากรโดยเฉพาะภาครัฐที่ขาดแคลนคนเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา นำระบบ AI มาปกป้องประชาชน ขณะนี้จึงมีภัยทางไซเบอร์นำ AI มาทำร้ายคนดี เกิดขึ้นจำนวนมาก


“หน่วยงานที่ไม่ใช่ภาคเอกชน ล้วนประสบภาวะขาดแคลนคนทำงาน นี่เป็นเรื่องจริง แม้แต่ กสทช. ก็ยังไม่มีบุคลากรเพียงพอที่จะมาทำงานในเรื่องความมั่นคงทางไซเบอร์ เราไม่ได้พูดถึงคนเขียนโค้ดได้ หรือ คนเล่นคอมพิวเตอร์เป็น แต่ต้องการคนที่จะเข้าใจภาพรวมของภัยความมั่นคงทางไซเบอร์ด้วย”


มุมมองของที่ปรึกษาประจำประธานกสทช. เห็นว่า ภัยคุกคามเน้น 4 มิติ หรือ 4 Dimension on infrastructure and security ซึ่งอนาคตจะกลายเป็นอุตสาหกรรมความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Defense) ประกอบด้วย มิติแรกคือ การเมืองระหว่างประเทศ (Geopolitics) มิติที่ 2 ความมั่นคงแห่งชาติ (National security) มิติที่ 3 การเมืองในประเทศ (Political) และมิติที่ 4 สังคม (Society)


“ภัยทั้ง 4 มิตินี้ ครอบคลุมทุกหน่วยงานของประเทศไทยด้วยเช่นกัน ดังนั้น การขับเคลื่อนเพื่อสร้างบุคลากรดิจิทัล เป็นสิ่งหนึ่งของนโยบายของรัฐที่จะต้องทำให้สำเร็จให้ได้ ไม่เช่นนั้นจะเกิดความเสี่ยงที่จะถูกโจมตี และไร้เสถียรภาพทางสังคม”


สำหรับบทบาทของ กสทช. คือการทำให้ประชาชนเข้าถึงระบบสื่อสาร โทรคมนาคม อินเตอร์เน็ตอย่างเท่าเทียมกันและปลอดภัย ดูแลปกป้องผู้ใช้งานคนไทยใน 7 ประตู (User Safety) ประกอบด้วย ดาวเทียมวงโคจรสูง (HEO) ดาวเทียมวงโคจรประจำที่ (GEO) ดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO) เคเบิลใต้น้ำ (Submarine Cable) เครือข่ายไฟเบอร์ออฟติกใยแก้วนำแสงข้ามทวีป (Wireless Telecommunication Fiber Optic Cable ) การเชื่อมต่อข้อมูลข้ามประเทศ (Gateway) และ ระบบโทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ต (Wireless Telecommunication)


“ประตูทั้ง 7 เชื่อมต่อถึงคนไทย กสทช. จึงมีหน้าที่ต้องปกป้องและออกแบบนโยบาย แต่จะทำอย่างไรถ้าบุคลากร ยุทโธปกรณ์ เทคโนโลยี หรือความรู้ไม่เพียงพอ ดังนั้น เราต้องมีพันธมิตร นับตั้งแต่ 2 ปีที่ได้ทำงานกสทช. สิ่งแรกที่ผลักดันคือการทูตไซเบอร์ (Cyber Diplomacy) เรามีปฏิญญาบูดาเปสต์ปี 2023 สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) กล่าวถึงการสร้างพันธมิตรเครือข่ายปกป้องภัยไซเบอร์ AI ร่วมกัน”


ที่ปรึกษาประจำประธานกสทช. เชื่อมั่นว่า การสร้างพันธมิตรต่อสู้กับ AI อาชญากรรมหรือภัยทางไซเบอร์จะประสบความสำเร็จได้นั้น ประเทศไทยต้องออกแบบโครงสร้างพื้นฐานประเทศ สถาปัตยกรรมทางดิจิทัลของเราอย่างถูกทิศทางด้วย นำไปสู่การพัฒนาบุคลากร ความรู้เชื่อมต่อกัน เกิดเป็นภาคีเครือข่ายที่ทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็งในอนาคต

 

Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล