ผศ.ดร.ปถมาพร สุกปลั่ง รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ปฏิบัติหน้าที่แทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต และ นางสาวอรวรรณ ลิ่มกังวาฬมงคล กรรมการผู้จัดการบริษัท เวโลพาร์ค จำกัด สตาร์ทอัพภายใต้การบ่มเพาะของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมพัฒนาหลักสูตรอบรมด้าน Blockchain และสร้างเครือข่าย Smart Chain เพื่อการศึกษา พร้อมเปิดตัวOLET กระเป๋าดิจิทัลเพื่อจัดเก็บสินทรัพย์ดิจิทัล
โดยสินทรัพย์ดิจิทัลเริ่มเป็นที่รู้จักและใช้กันแพร่หลายในไทย นอกจากคริปโตเคอเรนซี เช่น บิทคอยน์แล้วยังมี Token เพื่อการลงทุน Token เพื่อใช้ชำระค่าสินค้าบริการ ตลอดจน Token แสดงความเป็นเจ้าของสินทรัพย์ที่มีเอกลักษณ์ เวโลพาร์คมีความเชี่ยวชาญเทคโนโลยี Blockchain เห็นโอกาสในการพัฒนาเครือข่าย Blockchain เพื่อเป็นฐานการแปลงสินทรัพย์ต่างๆ ให้อยู่ในรูปสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน มากกว่าการใช้สร้างสินทรัพย์เพื่อเก็งกำไร
ทั้งนี้ “เวโลพาร์ค”และพันธมิตร บริษัท โทเคนิสตรา จำกัด ผู้เชี่ยวชาญการสร้างสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อธุรกิจประกันภัย ได้สร้างเครือข่าย Smart Chain ขึ้นมา เพื่อเป็นเครือข่ายที่ใช้ในการทำธุรกรรมที่มีค่าใช้จ่ายแน่นอน และเห็นว่าการแปลงใบปริญญาบนกระดาษเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลประเภท Digital Degree จะช่วยให้เกิดความสะดวกในการตรวจสอบความแท้ของใบปริญญา ตลอดจนแนวโน้มที่จะพัฒนาไปเป็นสินทรัพย์ที่ใช้เป็นหลักประกันทางการเงินได้
มหาวิทยาลัยรังสิตเป็นมหาวิทยาลัยที่มีการพัฒนาหลักสูตรด้าน Blockchain ให้แก่นักศึกษาทั้งการศึกษาในห้องเรียนและในรูปแบบออนไลน์ มหาวิทยาลัยเล็งเห็นประโยชน์ร่วมกันในการสร้างเครือข่าย Smart Chain ที่มีค่าบริการต่ำและคงที่ จึงร่วมเป็นหนึ่งในเครือข่าย Smart Chain กับเวโลพาร์คและพันธมิตร รวมทั้งใช้ประโยชน์ในการแปลงใบปริญญาหรือประกาศนียบัตรของมหาวิทยาลัยรังสิตเป็น Digital Degree เก็บไว้ในระบบ Blockchain โดยผู้ใช้งานสามารถเรียกใช้ผ่านกระเป๋าดิจิทัล OLET บนเว็บไซต์ OLET.cash
นางสาวอรวรรณ ลิ่มกังวาฬมงคล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เวโลพาร์ค จำกัด อธิบายว่า แม้สินทรัพย์ดิจิทัลจะเป็นที่นิยมในหมู่นักลงทุนไทย แต่ปัจจุบันเจ้าของสินทรัพย์ดิจิทัลยังขาดความรู้ และเข้าใจความแตกต่างของสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทต่าง ๆกระเป๋าดิจิทัล OLET ถูกสร้างให้สามารถใช้งานได้ง่าย และสร้างระบบ ความปลอดภัยโดยให้ความรู้ผู้ใช้ในการรักษาความปลอดภัยด้วยตนเอง แทนการพึ่งคนกลาง นอกจากนี้กระบวนการสมัครใช้กระเป๋าดิจิทัล OLET จะเป็นไปตามเกณฑ์การตรวจสอบตัวตนของผู้ใช้งาน (KYC) เพื่อป้องกันการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในรูปแบบที่ไม่เหมาะสม และมีแผนใช้ประโยชน์จากBlockchain เพื่อสร้างโปรแกรมควบคุมธุรกรรมทางการเงิน รวมถึงการใช้ Digital Degree เป็นหลักประกันในการกู้ยืมเงินซึ่งอยู่ในกระบวนการพัฒนาร่วมกับ ทีมงานโทเคนิสตรา (Tokenistra)
ผศ.ดร.ปถมาพร สุกปลั่ง รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า การลงนามความร่วมมือทางวิชาการนี้ มีวัตถุประสงค์หลักในการส่งเสริมการพัฒนาอาจารย์และนักศึกษา การส่งเสริมการทำวิจัยร่วมกัน เพื่อการพัฒนานวัตกรรมใหม่ รวมถึงการพัฒนาโครงการนำร่อง Digital Degree ไปสนับสนุนการให้บริการด้านงานทะเบียนผู้สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยนวัตกรรมดิจิทัลเทคโนโลยี โดยอาศัยโครงสร้าง Blockchain ของทางเวโลพาร์ค ซึ่งมหาวิทยาลัยเห็นถึงประโยชน์ของโครงการดังกล่าว ที่จะนำไปสู่การดำเนินการที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ
รศ. ดร. เชฏฐเนติ ศรีสอ้าน รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรม ม.รังสิต กล่าวเสริมว่า การสร้างใบปริญญาบัตรแบบDigital Degree บนบล็อกเชนนี้ มีจุดเด่น คือ ความเป็นเอกลักษณ์ ไม่สามารถปลอมแปลงหรือลอกเลียนแบบได้ ไม่สูญหาย ทำให้เชื่อมั่นในความถูกต้องของข้อมูลบน Digital Degree และสามารถตรวจสอบสถานะข้อมูลใบปริญญาบัตรได้ตลอดเวลานอกจากนี้ ม.รังสิตจะร่วมเป็น Node หนึ่งของเครือข่าย Smart Chain ซึ่งจะจัดตั้งขึ้นโดยเวโลพาร์ค และเครือข่ายของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่เข้าร่วมในโครงการนี้
ศ. ดร.อาณัติ ลีมัคเดช ผู้อำนวยการศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญาและบ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงบทบาทของ ศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญาและบ่มเพาะวิสาหกิจว่า ศูนย์ฯ มีเป้าหมายในการสร้างสรรค์และพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ตลอดจนสนับสนุนนวัตกรรมต่าง ๆ ของสตาร์ทอัพ ซึ่งกระเป๋าดิจิทัล OLET เป็นหนึ่งในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี Blockchain ที่เป็นองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบัน ทางศูนย์ฯ ก็เข้าร่วมในการออกใบรับรองDigital Certificate ให้กับผู้ผ่านหลักสูตรอบรมต่าง ๆ ที่ทางศูนย์ฯ จัดขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการสร้างนวัตกรรมทางการศึกษาและการเงิน