เรามักเห็นภาพของชาวมุสลิมทั่วโลก เดินทางไปแสวงบุญ ที่นครมักกะห์ (เมกกะ) ไปแสดงความเคารพ กะบะห์ อาคารสี่เหลี่ยมที่ถูกคลุมด้วยผ้ากำมะหยี่สีดำ ศาสนสถานสำคัญของศาสนาอิสลาม กะบะห์ มีความสำคัญต่อชาวมุสลิมทั่วโลกเป็นอย่างมาก เป็นชุมทิศ(กิบลัต)ในการผินหน้าละหมาด และขอพร(ดูอา) สถานที่เดินเวียนรอบ(ฎอวาฟ)เพื่อพระเจ้าองค์เดียวและอีกทั้งยังเป็นสถานที่ของการประกอบพิธีอุมเราะห์และพิธีฮัจย์
จุดเริ่มต้นของความภาคภูมิใจนี้ ย้อนไปเมื่อ 46 ปีที่แล้ว เมื่อ่เจ้าชายอะมีร มายิด อดีตผู้ว่าการนครมักกะห์ (เมกกะ) เดินทางประเทศไทย โดยมีเชค อับดุลเลาะห์ บินตุรกี เป็นเลขาฯ และในคณะก็ยังมี เชคอะหมัด อิบรอฮีม บะดุร (ผู้รับผิดชอบการทำประตูกะบะห์ ในครั้งนั้น) ร่วมเดินทางมาด้วย เหตุผลของการเดินทางครั้งนั้น เชคอะหมัด เล่าว่าน้องชายของท่านคือ ดร.ฟาอีส อิบรอฮีม บะดุร ผู้ว่าการการท่าเรือยิดเมืองเจดดาห์ ในเวลานั้น ได้ติดต่อไม้มะค่าโมงจากประเทศไทย ไปเพื่อทำประตูกะบะห์ แต่ตอนนี้ท่านต้องการช่างไม้และช่างทองเพื่อไปช่วยในงานนี้ด้วย
ด้วยการประสานความร่วมมือเป็นอย่างดี จึงได้ ช่างฝีมือ คือ ช่างไม้มี ฮัจยีอีซา กาสุรงค์ ฮัจยีสุไลมาน ซันหวัง และฮัจยีฮูเซ็นและอิ่ม ส่วนช่างทองมี ฮัจยีอาลี มูลทรัพย์ ฮัจยีฮุไซนี อารีพงษ์และฮัจยีกอเซ็ม ชนะชัย คนไทยมุสลิมจากพื้นที่ภาคกลาง เป็นผู้ดำเนินการทำประตูกะบะห์
การทำงานเริ่มต้นขึ้นในปี 2522 โดยมีการเตรียมงานขั้นต้นก่อนเพื่อให้ประตูเสร็จแล้วจึงไปติดตั้ง ซึ่งในขั้นตอนนี้ทีมงานได้ใช้บ้านของท่าน เชคอะหมัด อิบรอฮีม บะดุร เป็นโรงงานที่เตรียมงาน การทำงานนั้นใช้ไม้มะค่าโมงซึ่งมีอายุถึง 200 ปี มีความหนา 3 นิ้ว กว้าง 1.60 เมตร ยาวกว่า 2.00 เมตร จำนวน 8 แผ่น ซึ่งไม้นี้เป็นไม้ที่ได้มาจากต้นไม้เพียงต้นเดียว แสดงให้เห็นว่าจะต้องเป็นต้นไม้ที่ใหญ่มาก ใช้เวลาเลื่อยและอบที่ประเทศไทยเป็นเวลา 3 เดือน
เชคอับดุลวาฮับ อับดุลวะเซียะ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีฮัจย์ ในขณะนั้น ก็ได้มาตรวจดูงานอยู่เป็นระยะ ๆ เมื่อทำงานได้ประมาณ 60 % มกุฎราชกุมารฟาฮัด บินอับดุลอะซีซ(พระอนุชาของกษัตริย์คอลิจในตอนนั้น) ก็ทรงเสด็จเยี่ยมชมการทำงานเช่นเดียวกันการทำประตูกะบะห์ มีความยากตรงที่มีปัญหาเกี่ยวกับความร้อนสูงและความชื่นภายในกะบะห์อาจทำให้ไม้นั้นยืดและหดตัวได้ จึงต้องใช้วิธีตัดซอยไม้จากแผ่นใหญ่ออกให้เป็นส่วนที่เล็กลง เพื่อทำการเข้าลิ่ม เหมือนกับบ้านไทยโบราณโดยใช้กาวและตะปูเป็นตัวเชื่อม เพื่อให้รองรับการยืดหดตัวของไม้
ส่วนที่เป็นงานทำทองนั้นช่างทอง ต้องหลอมและรีดให้เป็นแผ่น ขนาด 1 คูณ 3 เมตร แล้วเขียนแบบตัวอักษรค๊อต แล้วจึงตอกเป็นตัวนูน ซึ่งผู้ที่เขียนภาษาก็คือ เชคอับดุลรอฮีม อามีน บุคคอรี แต่ในขณะนั้นท่านสุขภาพไม่ดีจึงต้องเข้าออกรักษาตัวโรงพยาบาลประจำ จึงทำให้การเขียนนั้นต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปีกว่า การบรูณะประตูกะบะห์ครั้งนั้น การใช้งบประมาณในการสร้างบูรณะเป็นเงินทั้งสิ้น 180ล้านริยาล หรือประมาณ1,800ล้านบาท
สำหรับขั้นตอนในการติดตั้งนั้น ผู้ที่คอยดูแลในขณะที่ติดตั้งคือ เชคฎอฮา อัลชัยบีย์ ผู้ถือกุญแจประตูกะบะห์ต้องใช้อุปกรณ์ติดตั้งเช่นนั่งร้าน แต่ภายในกะบะห์นั้นร้อน ไม่สามารถนำพัดลมเข้าไปติดตั้งได้ต้องติดไว้ข้างนอก เปิดให้ลมเข้าไปเพียงอย่างเดียว ต้องตั้งด้านนอกพัดให้ลมเข้าไปด้านในเท่านั้น การจัดหา การจัดเตรียม การจัดทำ การควบคุมดูแลไม่ง่าย ต้องใช้ฝีมือและความอดทนสูง ทีมคนไทยมุสลิมเหล่านี้ได้รับเลือกจากช่างฝีมือทั่วโลกหลายล้านคน ถือเป็นความภาคภูมิใจของชาวไทยมุสลิมและประเทศ
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพ จากเพจ รู้จักมุสลิม รู้จักอิสลาม