X
วช.เผยผลวิจัย ดิจิทัล กระทบ “ทัศนคติ อัตตลักษณ์ “ ประชากรดิจิทัล

วช.เผยผลวิจัย ดิจิทัล กระทบ “ทัศนคติ อัตตลักษณ์ “ ประชากรดิจิทัล

25 ก.ค. 2565
450 views
ขนาดตัวอักษร

กิจกรรม “NRCT Talk : รางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2555” เวที นำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรม โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้เปิดตัวผลงานวิจัยเรื่อง “การสร้างความเข้าใจในคุณลักษณะ พฤติกรรม และทัศนคติในอนาคตของชาวดิจิทัลไทย” โดย

รองศาสตราจารย์ ดร.จุลนี เทียนไทย หัวหน้าโครงการวิจัย อาจารย์ประจำ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะ ดร.จุลนี กล่าวว่า งานวิจัยครั้งนี้ศึกษา “ประชากรดิจิทัล” กลุ่มตัวอย่างคนไทยอายุระหว่าง 13-38 ปี โดยใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพศึกษาพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของคนไทยที่เกิดจากผลกระทบของเทคโนโลยีและสื่อดิจิทัล การศึกษาจะดูรอบด้านตั้งแต่ คุณลักษณะ พฤติกรรม ทัศนคติของชาวดิจิทัลไทย เพื่อให้ได้องค์ความรู้ใหม่ที่สะท้อนผ่านเสียงของคนรุ่นใหม่นำไปใช้ในการสร้างความเข้าใจในการอยู่ร่วมกัน สังคม และลดช่องว่างระหว่างวัย


ผลการศึกษาในภาพรวมผลการศึกษาพบว่า เทคโนโลยีมีผลต่อพฤติกรรมของประชากรดิจิทัลทุกมิติ ทั้งการปฏิสัมพันธ์และความสัมพันธ์ของคนที่เปลี่ยนแปลงไป มีการส่งต่อข้อมูลที่ กว้าง เร็ว แต่ไม่ลึก มีการสร้างบรรทัดฐานใหม่ในสังคมที่อาจจะเป็นบรรทัดฐานคนละชุด เช่น การไม่ได้ให้ความสำคัญกับลำดับอาวุโสทางสังคม , มีการแบ่งปัน นำเสนอไลฟ์สไตล์ส่วนตัวโดยสะท้อนถึงความมุ่งหวังความสุขส่วนตัว , มีการเปลี่ยนแปลงภาษาที่ใช้ในสื่อสังคม , มีรูปแบบการใช้ภาษาที่มาจากอิทธิพลของเกมออนไลน์ ละคร และเพลง , มีการแบ่งปันข้อมูลที่ลดขั้นตอนในการสื่อสาร ทำให้ลดการใช้วิจารณญาณในการตีความไปด้วย ,การนำมาซึ่งโรคอุบัติใหม่ เช่น ทุกอย่างต้องเร่งรีบถ้าช้าจะเป็นปัญหา , มีการแสดงออกทางอารมณ์แบบสุดขั้ว , การใช้ชีวิตง่ายไปหมดจนอาจเกิดความเสี่ยงที่จะ “จ่ายง่ายซื้อง่าย” อย่างไรก็ดีผลการศึกษายังพบส่วนดีที่สื่อดิจิทัลทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างไร้ข้อจำกัดทางเวลา สถานที่ อายุ เพศสภาพ ฯลฯ มีการเปลี่ยนแปลงพ่อแม่ที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้ดิจิทัลเป็นพ่อแม่คนใหม่ที่มีความทันสมัยขึ้น


ดร.จุลนี กล่าวต่อว่า ข้อค้นพบสำคัญของการศึกษาคือ เทคโนโลยีส่งผลให้พฤติกรรม การปฏิสัมพันธ์และบรรทัดฐานสังคมเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงทำให้เกิดการใหม่ เช่น การเลือกปฏิบัติต่อกัน การตัดสินความผิดชอบชั่วดี การใช้ภาษา การสร้างและนำเสนอตัวตนชีวิต โดยเฉพาะการเปลี่ยนทัศนคติในเรื่องทักษะที่จำเป็น ความคิดและพฤติกรรมในการเรียนรู้ อีกทั้งครอบครัวก็ได้เปลี่ยนแปลงไปด้วย ตลอดจนการเกิดปัญหาการใช้ชีวิตและปัญหาสุขภาพรูปแบบใหม่ ความหวัง และความกลัวที่ถูกกำหนดโดยโครงสร้างสังคม


จากผลการวิจัยคนไทยมีความพร้อมเป็นคนไทย 4.0 ระดับหนึ่ง ด้วยคุณลักษณะของคนไทยหากได้รับการสนับสนุนให้เท่าทันกับเทคโนโลยี น่าจะไปสู่ความเป็นคนไทย 4.0 ที่ดำรงความเป็นไทยและเชื่อมโยงกับโลกได้

Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)