นายระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าวในการเสวนาวิชาการ โดยคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง “จากพ.ร.บ.คอม PDPA จนถึง หรือ พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อ หรือจริยธรรมจำต้องกำหนดด้วยกฎหมาย “ ว่า ข้อน่ากังวลสำหรับวงการสื่อออนไลน์ต่อพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือกฎหมาย PDPA คือผลกระทบที่อาจทำให้สื่อจะมีรายได้ลดลง เนื่องจากรายได้ของสื่อออนไลน์มาจากโฆษณาจาก Google , Facebook ที่เก็บข้อมูลความสนใจของผู้ใช้ เมื่อมี กฎหมาย PDPA ถ้าผู้ใช้งานไม่กดอนุญาตให้เก็บข้อมูลได้จะไม่สามารถเก็บข้อมูลของผู้ใช้งานเพราะจะขัดต่อหลักการของกฎหมาย เมื่อเว็บไม่สามารถเก็บข้อมูลได้จะทำให้ลงโฆษณาไม่ถูกตรงกับความสนใจของผู้ใช้งาน ซึ่งน่าจะมีผลต่ออัตราค่าโฆษณาที่จะลดลงเพราะเก็บข้อมูลไม่ได้
“ รายได้จะลดลงทันที เพราะระบบโฆษณาแบบ Targeting กับ Re-tergerting โฆษณาที่เขาซื้อเป็นแนว convertion คือ ซื้อเพื่อให้ปิดการขายได้ ซึ่งใช้ระบบ Cookie ในการจับความสนใจ พอ PDPA มา การเก็บ Cookie ได้ผู้ใช้ต้องกดยอมรับเท่านั้น ถ้าไม่กดผู้ชมจะแค่เป็นผู้มองเห็นโฆษณาเท่านั้นซึ่งเขาจะจ่ายเงินให้น้อย ผิดกับการที่โฆษณาถูกตัวคนแล้วปิดการขายได้ที่จะจ่ายมากกว่า รายได้จะลดลงเพราะเก็บดาต้าไม่ได้นั่นเองนี่คือข้อกังวลหลักของคนทำธุรกิจสื่อออนไลน์”
อย่างไรก็ดีถ้ามองในมุมกลับกัน การมีกฎหมาย PDPA อาจทำให้โมเดลการทำธุรกิจสื่อแบบล็อกอิน หรือแบบบอกรับสมาชิกเกิดขึ้นเพราะได้รับรายได้จากการรับสมาชิกเข้ามาแทน ขณะที่ผู้บริโภคจะได้เนื้อหาที่มีคุณภาพมากขึ้น