จากที่มีข่าวสาววัย 17 ปี ไปกินหมูกระทะไม่แยกตะเกียบ จนติดเชื้อโรค "ไข้หูดับ" อาการโคม่า ทาง Backbone Mcot เลยขอพาไปดูว่าการที่กินอาหารสุกๆ ดิบๆ จะโรคไข้หูดับได้อย่างไร รวมถึงอาการของโรคนี้น่ากลัวแต่ไหน
โรคไข้หูดับ คือ ภาวะติดเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus Suis โดยผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะมีอาการไข้ หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัว เกิดภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และติดเชื้อในกระแสเลือด ทำให้ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะรุนแรง อาเจียน คอแข็ง เกิดภาวะแทรกซ้อนหูดับถาวร หรือเสียชีวิตได้
ภาวะหูดับ จะเกิดขึ้นตามหลังจากการเกิดภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โดยการอักเสบจะลามจากน้ำเยื่อหุ้มสมองมายังหูชั้นใน ทำให้เกิดภาวะหูชั้นในอักเสบ ซึ่งในส่วนของกระดูกก้นหอยของหูชั้นใน มีอวัยวะที่ทำหน้าที่รับเสียงอยู่ ทำให้เกิดอาการหูดับขึ้น โดยมักจะเป็นกับหูทั้งสองข้าง หากเกิดขึ้นแล้ว ผู้ป่วยจะไม่สามารถได้ยินอีก จัดเป็นภาวะรีบด่วนที่ผู้ป่วยควรต้องได้รับการผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียมเพื่อฟื้นฟูการได้ยิน ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสที่จะกลับมาสื่อสารในแบบสังคมปกติได้อีกครั้ง
ภาวะหูดับจากโรคไข้หูดับ จัดเป็นภาวะที่สมควรได้รับการวินิจฉัยได้โดยเร็ว เนื่องจากสมองที่ไม่ได้รับการกระตุ้นจากเสียง จะเสียความสามารถในการรับฟังไปเรื่อยๆ ยิ่งนานวัน โอกาสฟื้นฟูก็จะยิ่งลดลงทำให้โอกาสความสำเร็จหลังการผ่าตัดลดลง และอีกปัจจัยที่สำคัญมากคือ ภาวะไข้หูดับ มีโอกาสที่จะเกิดการตีบตันของท่อนำเสียงในกระดูกก้นหอยสูงมาก จึงควรพิจารณาการรักษาอย่างเร็วไว เพราะหากท่อนำเสียงในกระดูกก้นหอยตีบตันไปแล้ว การผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียมแบบมาตรฐานก็จะไม่สามารถทำได้เลย
สำหรับ เชื้อแบคทีเรีย Streptococcus Suis อยู่ในทางเดินหายใจหมู และในเลือดของหมูที่กำลังป่วย เชื้อนี้จะติดต่อมายังคนได้จากการบริโภคเนื้อหมู เลือดหมูที่ปรุงแบบสุกๆ ดิบๆ หรือแบบดิบ และจากการสัมผัสชิ้นส่วนของเนื้อหมู เลือดหมู ผ่านทางผิวหนังที่มีรอยถลอก บาดแผล หรือเยื่อบุตา
ฉะนั้นการกินหมูกระทะโดยที่นำตะเกียบที่คีบเหนือหมู ไปใช้คีบอาหารเข้าปากด้วย จึงอาจเสี่ยงได้รับเชื้อแบคทีเรีย โดยกลุ่มเสี่ยงที่หากสัมผัสเชื้อแล้วจะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้มาก ได้แก่ กลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง กลุ่มบุคคลที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำจากสาเหตุต่างๆ
โรคไข้หูดับ สามารถป้องกันได้ด้วย การหลีกเลี่ยงการบริโภคเนื้อหมูดิบ หรือสุก ๆ ดิบ ๆ หมูป่วยหรือตายจากโรค หากผู้ปรุงมีแผลที่ผิวหนังต้องปิดแผล ควรสวมถุงมือขณะปรุง เลือกซื้อเนื้อหมูจาก ตลาดสด และห้างสรรพสินค้า ที่ผ่านการตรวจเช็กมาตรฐานจากโรงฆ่าสัตว์ไม่ซื้อเนื้อหมูที่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ เนื้อยุบ ต้มด้วยอุณหภูมิตั้งแต่ 70 องศาเซลเซียส นานอย่างน้อย 10 นาทีหรือจนน้ําต้มไม่มีสีแดง นอกจากนั้น ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับหมูที่คาดว่าจะเป็น พาหะซึ่งมักไม่แสดงอาการป่วย
ทั้งนี้ เมื่อรู้เช่นนี้ใครที่ชอบทางอาหารประเภท หมูกระทะ สุกี้ ชาบูชาบู คสบจะแยกตะเกียบเป็นสัดส่วน ระหว่างตะเกียบที่ใช้คีบเนื้อหมูดิบลงไปในหม้อ ในกระทะ และตะเกียบที่ใช้คีบอาหารเข้าปาก เพื่อความปลอดภัยจากโรคไข้หูดับ
ขอบคุณข้อมูลจาก :
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์