X
วัดพระราม วัดสวยที่ไม่ควรมองข้าม “เมืองประวัติศาสตร์อยุธยา”

วัดพระราม วัดสวยที่ไม่ควรมองข้าม “เมืองประวัติศาสตร์อยุธยา”

28 พ.ย. 2567
3840 views
ขนาดตัวอักษร



28 พ.ย.67 – “วัดพระราม” วัดสวยที่ไม่ควรมองข้าม “เมืองประวัติศาสตร์อยุธยา” สถานที่พักผ่อนหย่อนใจกับสวนสาธารณะบึงพระราม


เมืองประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ขึ้นชื่อในเรื่องวัด วัง โบราณสถาน ที่มีรากและประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจแตกต่างกันให้เรียนรู้ หรือจะเพียงแค่ผ่านมาเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจสถานที่เมืองแห่งประวัติศาสตร์นี้ก็ได้เช่นกัน หนึ่งในนั้นมีชื่อของ “วัดพระราม” หนึ่งวัดของกรุงศรีฯ ที่มีเรื่องราว และความสวยงามในปัจจุบันที่ไม่แพ้ใคร


“วัดพระราม” เป็นวัดที่อยู่นอกเขตพระราชวังไปทางด้านทิศตะวันออก ตรงข้ามกับวิหารพระมงคลบพิตร ตามประวัติระบุว่า “สมเด็จพระราเมศวร” ทรงสร้างขึ้นตรงบริเวณที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) พระราชบิดา จุดเด่นของวัดพระราม ที่นี้จะมีบังขนาดใหญ่อยู่ด้านหน้าวัด ซึ่งเมื่อครั้งสร้างกรุงศรีอยุธยา คาดการณ์ว่ามีการขุดเอาดินในหนองมาถมเป็นพท้นที่วังและวัด จนกลายเป็นบึงขนาดใหญ่ มีชื่อปรากฎในมณเฑียรบาลว่า “บึงชีขัน” แล้วค่อยเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า “บึงพระราม” จวบจนปัจจุบัน คือ “สวนสาธารณะบึงพระราม” เป็นที่พื้นที่ที่เปิดให้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของคนในพื้นที่ หรือแม้แต่นักท่องเที่ยวก็ไม่พลาดต้องแวะมาพักกายชื่นชมกับความพิเศษของสถานที่แห่งนี้


อีกจุดเด่นที่เหมาะกับการหยิบกล้องขึ้นมาเก็บภาพ “วัดพระราม” ยังมีพระปรางค์ขนาดใหญ่เห็นเด่นชัดแต่ไกล องค์ปรางค์ก่อด้วยอิฐสอปูน เป็นสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาตอนต้นที่นิยมทำเป็นพระปรางค์ เพราะได้รับอิทธิพลแบบเขมรโบราณจากเมืองละโว้ (ลพบุรี) นั้นเอง


สำหรับข้อมูลของพระปรางค์องค์ใหญ่ ตามข้อมูลของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระบุไว้ว่า ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม สูงแหลมขึ้นไปด้านบนทางด้านทิศตะวันออก มีพระปรางค์องค์ขนาดกลางองค์ส่วนทางตะวันตกทำเป็นซุ้มประตู มีบันไดสูงจากฐานขึ้นไปทั้งสองข้าง ที่มุมปรางค์ประกอบด้วยรูปสัตว์หิมพาน มีปรางค์ขนาดเล็กตั้งอยู่ทางทิศเหนือ และ ใต้รอบๆปรางค์เล็กมีเจดีย์ล้อมรอบอีก 4 ด้านนอกจากนี้ยังมีเจดีย์เล็กบ้าง ใหญ่บ้างอยู่รอบๆ องค์พระปรางค์ประมาณ 28 องค์ กำแพงวัดพระรามด้านเหนือมีแนวเหลื่อมกันอยู่กำแพงด้านตะวันออก ตะวันตก และด้านใต้ มีซุ้มประตูค่อนไปทางทิศตะวันตกได้ระดับกับมุมระเบียงด้านตะวันตกเฉียงหนือของปรางค์ส่วนแนวเหลื่อมนั้นได้ระดับกับมุมระเบียงตะวันออกเฉียงเหนือของปรางค์ ไม่มีซุ้มประตู เหมือนเจตนาสร้างไว้เพื่อประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง มุมของพระปรางค์จะมีรูปสัตว์หิมพาน ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังเป็นภาพที่พระพุทธเจ้าประทับนั่งปางมารวิชัยบนบัลลังก์


นักท่องเที่ยวยังได้เห็นซากวิหาร 7 หลังที่หลงเหลืออยู่ ได้แก่

1.วิหารใหญ่อยู่ทางด้านหน้าวัด ทางทิศตะวันออกของพระปรางค์ วิหารองค์นี้ยังเหลือซากให้เห็นลักษณะและขนาดอยู่โดยรอบและเสากลมใหญ่แต่งเหลี่ยมสูงเกือบถึงบัว หัวเสา เป็นวิหารที่เชื่อมต่อกับพระปรางค์องค์ใหญ่ เดินถึงกันตรงระเบียง

2.วิหารน้อย อยู่ทางด้านทิศใต้ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เป็นวิหารที่มีด้านหลังเชื่อมต่อกับเจดีย์ใหญ่ ซึ่งปรักหักพังไปแล้ว คงเหลือแต่มูลดินทิ้งไว้ให้ศึกษา

3.วิหารอยู่ทางมุมด้านตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นวิหารขนาดกลาง มีเจดีย์ใหญ่ฐานสี่เหลี่ยมอยู่หลังวิหาร วิหารนี้หันหน้าไปทางทิศตะวันออก

4.วิหารน้อย หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เหลือแต่ด้านข้างสองด้านมุมวิหารน้อยทางด้านตะวันตกเฉียงใต้มีเจดีย์เล็กองค์หนึ่ง

5.วิหารเล็ก อยู่ด้านหน้าของพระอุโบสถ มีประตูอยู่ทางด้านทิศตะวันออกและตะวันตกข้างละ 1 ประตู

6.วิหาร หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ภายในมีเสาเหลี่ยมปรักหักพังด้านหลังวิหารมีเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยมองค์หนึ่ง ปรักหักพังเช่นกัน

7.วิหาร อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของปรางค์ มีวิหารขนาดย่อมกว่าวิหารด้านตะวันออกเล็กน้อยเชื่อมระเบียงองค์ปรางค์ที่ระเบียง มีบันไดหน้าวิหารตรงกับซุ้มประตู ปัจจุบันเหลือแต่ฐาน


และเมื่อปี พ.ศ. 2501 กรมศิลปากรได้ขุดกรุที่วัดพระรามเพื่อทำการบูรณะ ปรากฏว่าพบเจอของมีค่ามากมาย เช่น พระพุทธรูปทองคำ พระพิมพ์แบบอู่ทอง ลูกประคำทองคำ และลูกประคำแก้วผลึกอีกหลายรายการ นับเป็นอีกสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่นักท่องเที่ยวหากลองมาเยี่ยมชมแล้วจะไม่ผิดหวังแน่นอน

อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2024 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)