13 ธ.ค.67 – หนึ่งใน “ศาลเสด็จเตี่ย” ที่ผู้ศรัทธาไม่ควรพลาด ตั้งอยู่ในที่ที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง ที่นั้นก็คือ “ตลาดนางเลิ้ง”
พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หรือ “เสด็จเตี่ย” เป็นที่เคารพศรัทธาของเหล่าทหารเรือ รวมทั้งประชาชนทุกหมู่เหล่า มี “ศาลเสด็จเตี่ย” ตั้งอยู่ทั่วประเทศให้ผู้เคารพศรัทธาได้กราบไหว้ขอพร ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ โดยเฉพาะศาลเสด็จเตี่ย หาดทรายรี จ.ชุมพร หรือ ศาลเสด็จเตี่ย ที่บนเขาแหลมปู่เจ้าฐานทัพเรือสัตหีบ จ.ชลบุรี ที่มีชื่อเสียงมายาวนาน
•
แต่ “ศาลเสด็จเตี่ย” แห่งแรกนั้นกลับตั้งอยู่ในสถานที่ที่ใครก็อาจคาดไม่ถึง ย้อนกลับไปจากคำบอกเล่าของ น.ต. ภากร ศุภชลาศัย และ ม.ร.ว.อภิเดช อาภากร เคยกล่าวไว้ในโครงการ "กรมหลวงชุมพร 120 ปี นิวัตมาตุภูมิ สู่ราชนาวีสยาม" ระบุว่า ศาลหลังแรกของเสด็จเตี่ย ตั้งขึ้นในจุดที่บริเวณด้านหลัง “วังนางเลิ้ง วังเดิมของเสด็จเตี่ย” จนต่อมาได้มีการย้าย “ศาลเสด็จเตี่ย” หลังนี้ ไปตั้งอยู่ในบริเวณของ “ตลาดนางเลิ้ง” จวบจนปัจจุบัน
ซึ่ง “เสด็จเตี่ย” มีความผูกพันธ์ช่วยเหลือ และมีความสัมพันธ์อันดีกับชาวตลาดนางเลิ้งมาอย่างช้านาน ชาวตลาดนางเลิ้งจึงมีความศรัทธาเสด็จเตี่ยอย่างมากจากรุ่นสู่รุ่น เมื่อย้ายศาลจากแห่งเดิมมาชาวตลาดนางเลิ้งได้ร่วมมือร่วมใจลงทุนลงแรง สำเร็จกลายเป็นศาลใหญ่โตสวยงามตามแบบศิลปะจีนโบราณ จากศาลเจ้าจีนหลังเล็กเปลี่ยนเป็นศาลไม้กึ่งปูนรูปทรงศิลปะแบบจีน ต้อนรับผู้คนที่เดินทางมาสักการะกราบไหว้ขอพร ด้านบนตั้งพระรูปหล่อของกรมหลวงชุมพร และได้มีการหล่อพระรูปขึ้นใหม่ขนาดเท่าพระองค์ ครึ่งหนึ่งของพระองค์จริง ตั้งประดิษฐานอยู่ด้านบนของตัวศาล ผู้คนนิยมเดินทางมาบนบานขอพรหน้าที่การงาน การเงิน การค้าขาย การเรียน หรือแม้กระทั่งความรัก เชื่อกันว่าส่วนใหญ่ประสบความสำเร็จ
•
ส่วนที่มาของพระนาม “เสด็จเตี่ย” มีสาเหตุดังนี้ เมื่อครั้ง กรมหลวงชุมพรฯ ทรงทอดพระเนตรเห็นว่า นักเรียนนายเรือใหม่ที่ออกฝึกภาคทางทะเล ขณะทำการขัดดาดฟ้าเรือ ด้วยท่าทีเก้ๆ กังๆ พระองค์จึงทรงตรัสว่า “มานี่ ไอ้ลูกชาย เตี่ยจะสอนให้” และทรงทำให้นายเรือเหล่านั้นดูเป็นแบบอย่าง จึงเป็นหนึ่งที่มาของการเรียกพระนามว่า “เสด็จเตี่ย” นั้นงเอง
เครื่องสักการะ “เสด็จเตี่ย”
1.ธูปหอม 5 ดอก
2.ดอกกุหลาบ
3.ขนมจีนน้ำพริก
4.ฟักทองสังขยานึ่ง
คาถาบูชา “เสด็จเตี่ย”
•ตั้ง นะโม 3 จบ “โอม ชุมพรจุติ อิทธิกะระณัง สุโข นะโมพุทธายะ”•
ภายในศาลแห่งนี้ ยังเป็นที่ประดิษฐานเทพ ปึงเถากง กวนอู ไฉ่ซิงเอี้ยะ และเจ้าแม่กวนอิม ที่สามารถกราบไหว้ขอพรอันดีได้ด้วยเช่นกัน