X
ขาย “เหี้ย” กระแสดี นักธุรกิจสนใจเพียบ

ขาย “เหี้ย” กระแสดี นักธุรกิจสนใจเพียบ

23 ก.ค. 2568
80 views
ขนาดตัวอักษร

23 ก.ค.68 - กระแสดี กรมอุทยานฯ เตรียมขายเหี้ยเพื่อเป็นพ่อแม่พันธุ์ สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า เผยนักธุรกิจสนใจเพียบ


หลังจากคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ประชุมครั้งที่ 1/2568 เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2565 และได้ลงความเห็น ประกาศราคาพ่อแม่พันธุ์ตัวเหี้ย ไว้ที่ตัวละ 500 บาท ภายหลังจากมีการแก้ไขกฎหมายจากเดิมเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่เพาะพันธุ์ได้  ให้ประชาชนสามารถเพาะเลี้ยงเหี้ยเพื่อเป็นสัตว์เศรษฐกิจได้ ภายใต้ข้อกำหนดของกรมอุทยานฯ โดยมีพื้นที่ กรงเลี้ยง และการเลี้ยงดูที่เหมาะสมนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับปรุงระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการกำหนดอัตราเรียกเก็บค่าใช้จ่ายค่าบริการ หรือค่าตอบแทนและราคาสัตว์ป่า พ.ศ. 2567 และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลทางกฎหมายต่อไป

นายเฉลิม พุ่มไม้ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผย ว่า หลังจากที่เรื่องนี้ถูกนำเสนอออกไป ปรากฏว่า มีบรรดา พ่อค้า นักธุรกิจ สนใจ และติดต่อเข้ามาที่สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า รวมถึงโทรศัพท์มาสอบถามยังตนจำนวนมาก “ได้ให้รายละเอียดเบื้องต้น ถึงคุณสมบัติของคนที่จะมาซื้อ โดยสามารถติดต่อขอรับการสนับสนุนพ่อแม่พันธ์ุได้ที่กลุ่มงานเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า หน่วยงานต้นสังกัดของ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน จ.ราชบุรี ซึ่งสถานที่ดังกล่าวเวลานี้ ได้เลี้ยงดูตัวเหี้ยไว้ประมาณ 400 ตัว ซึ่งเป็นตัวเหี้ยที่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการที่ตัวเหี้ยเข้าไปคุกคามในบ้าน และแจ้งมาที่สายด่วยพิทักษ์ป่า 1362 ซึ่งเมื่อได้รับแจ้ง จะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยจับ และนำมาดูแลตรวจสุขภาพเบื้องต้น ที่กลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า ที่อยู่ในกรมอุทยานฯ หลังจากนั้น จะนำไปไว้ที่ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน จ.ราชบุรี ซึ่งที่นั่น มีสถานที่ที่ดูแลตัวเหี้ยที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ตอนนี้มีตัวเหี้ยอยู่ประมาณ 400 กว่าตัวตามบัญชี รวมทั้งดูแลงูเหลือมอีกประมาณ 1,000 ตัวตามบัญชี”

ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวว่า สำนักอนุรักสัตว์ป่าขอถือโอกาสแนะนำนักธุรกิจที่ต้องการจะ เพาะพันธุ์ตัวเหี้ย ให้ไปดูที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน จ.ราชบุรี และมาติดต่อทำเอกสารรายละเอียด และจะมีเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบความพร้อมในสถานที่เลี้ยง ให้มีสถานที่และกรงเลี้ยงที่เหมาะสม จากนั้น ชำระเงินในจำนวนที่ต้องการซื้อ โดย ค่าตัวเหี้ย 400 บาท ค่าไมโครชิพอีก 100 บาท รวมเป็นตัวละ 500 บาท โดยตัวเหี้ยทุกตัวที่ออกจากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าจะต้องมีไมโครชิพทุกตัว เพื่อป้องกันการแอบจับจากธรรมชาติไปเลี้ยง ทั้งนี้เพราะตัวเหี้ยยังมีสถานภาพเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองอยู่

แต่เดิมนั้น ที่ยังไม่สามารถจำหน่ายตัวเหี้ยได้ ทางกรมอุทยานก็จะเลี้ยงดูเขาไปจนสิ้นอายุขัยโดยในแต่ละสัปดาห์ จะมีคนแจ้งให้เข้าไปช่วยจับตัวเหี้ยที่เข้าบ้านประมาณ 10-20 ตัว การเลี้ยงดู โดยทางสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสนก็สร้างบ่อเลี้ยง ขนาดประมาณ 1 ไร่ จำนวน 2 บ่อ มีแอ่งน้ำ และต้นไม้ ให้อาหารเป็นเนื้อไก่ และปลาครั้งละ 40-50 กิโลกรัม สัปดาห์ดาละ 3 ครั้ง โดยมีภาคเอกชนสนับสนุนเรื่องอาหารส่วนหนึ่ง รวมทั้งบ่องูเหลือ งูหลามเช่นเดียวกัน โดยงูเหลือมนั้น ก็อนุญาตให้เพาะเลี้ยงเป็นสัตว์เศรษฐกิจมาแล้วระยะหนึ่ง งูเหลือมตัวละ 400 บาท งูหลาม 500 บาท ขั้นตอนการซื้อขายก็เหมือน กับการซื้อขายตัวเหี้ย

“ผมคิดว่าสาเหตุที่นักธุรกิจสนใจ เพราะตัวเหี้ยมีลวดลายที่สวยงาม ซึ่งในตลาดต่างประเทศมองว่า สวยว่าหนังจระเข้ แต่ในประเทศไทยอาจจะยังไม่เป็นที่นิยมนัก และยังมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับเรื่องนี้คือมี นักธุรกิจบางคน ติงว่า ให้เรียกชื่อว่าตัวเงินตัวทองได้ไหม แต่ผมได้อธิบายไปว่า เรียกอย่างนั้นก็ได้ แต่ในทางกฎหมาย บัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง นั้น “เหี้ย” ถือ เป็นทางการชื่อทางการ”

อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)