29 ส.ค.65 - เฉลยชื่อคลื่นเมฆ ดำทะมึน “เมฆอาร์คัส” คลื่นเมฆสุดน่ากลัว ที่แฝงอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง
เช้าวันนี้ (29 ส.ค.) ปรากฎการณ์ฝนตกในหลายจังหวัด ซึ่งบรรยากาศเช่นนี้ ทำให้เกิดปรากฎการณ์เมฆดำทะมึน เป็นแนวยาวดูคล้ายคลื่นเมฆสุดลูกหูลูกตา ผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่า เมฆประเภทนี้คือ "เมฆอาร์คัส" ซึ่งเป็นเมฆประเภทก่อตัวต่ำเกิดเมื่อมวลอากาศเย็นปะทะมวลอากาศอุ่นชื้น จึงผลักมวลอากาศอุ่นชื้นขึ้นไปด้านบน
•
จากนั้นกระแสลมแรงทำให้เมฆม้วนตัวเป็นทางยาวขนานไปกับพื้นผิวโลก
- เมฆดังกล่าวถือว่ามีความเสี่ยงจากฟ้าผ่าแฝงอยู่ โดยเฉพาะฟ้าผ่าแบบบวก ซึ่งสามารถผ่าออกมาไกลจากตัวเมฆได้หลายกิโลเมตร อย่างไรก็ตาม บริเวณฐานกลุ่มเมฆจะเป็นลมกด ซึ่งปรากฏการณ์อาร์คัสก็ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างง่าย ๆ
นักอุตุนิยมวิทยา ของกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า ปรากฏการณ์ เมฆอาร์คัส เกิดจากลมที่หอบนำเอาความชื้นในชั้นบรรยากาศ และฝุ่นละอองในอากาศพัดมารวมตัวกัน จนทำให้เกิดเป็นกลุ่มเมฆอาร์คัส ซึ่งน้ำหนักของเมฆอาร์คัสจะหนักกว่าเมฆฝนแบบปกติ
- เนื่องจากมีฝุ่นละอองรวมอยู่ในกลุ่มเมฆอาร์คัส ทั้งนี้ ลม ฝุ่น และความชื้น ถือเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ในลักษณะนี้
โดยกลุ่มเมฆอาร์คัส จะพัดมาปะทะกับความเย็นของอากาศบริเวณพื้นผิวโลก จึงเกิดลักษณะการม้วนของกลุ่มเมฆอาร์คัสปรากฏให้เห็นคล้ายกำแพงก้อนเมฆ
ด้านนางสาวชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา อธิบายลักษณะเม็ดฝนที่ตกลงมาในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเมื่อเช้าว่า เป็นฝนเม็ดใหญ่จากเมฆฝนฟ้าคะนองซึ่งเรียกว่า “คิวมูโลนิมบัส” (cumulonimbus) เป็นชื่อเรียกจากภาษาละติน คำว่า cumulus หมายถึง “กองของและสิ่งของ” และ nimbus หมายถึง “พายุฝนและเมฆพายุ” โดยเมฆคิวมูโลนิมบัสมีลักษณะหนาสูงทึบในแนวตั้ง มีความสัมพันธ์กับพายุฟ้าคะนอง และอากาศที่มีลักษณะแปรปรวนก่อตัวขึ้นจากไอน้ำซึ่งได้รับการนำพาพัดขึ้นด้านบนด้วยกระแสลมแรง สามารถพบได้ในแบบเดี่ยว รวมเป็นกลุ่ม หรือตามแนวปะทะอากาศเย็น สามารถทำให้เกิดฟ้าผ่า หรือสภาพอากาศที่รุนแรงได้เช่น ทำให้เกิดพายุทอร์นาโด
ขอบคุณภาพ : เรารักพัทยา