X
เกษตรพันธสัญญา คืออะไร ?

เกษตรพันธสัญญา คืออะไร ?

20 ม.ค. 2565
3500 views
ขนาดตัวอักษร

กระแสข่าวกำลังโด่งดังหลังจากเกษตรกรเจ้าของฟาร์มสุกรออกมาโวยวายเรื่องราคาหมูไม่ได้แพงอย่างใครเขาพูดกัน เจ้าของฟาร์มหมูบอก ตนขายหมูเพียงแค่กิโลกรัมละ 60.- บาท เท่านั้น ซึ่งหลังจากนั้นไม่นาน ความจริงก็ปรากฏเพราะเป็นการเข้าใจผิดของภรรยาเจ้าของฟาร์ม ในเรื่องของราคาที่ตนนั้นได้ทำสัญญากับพ่อค้าไว้ล่วงหน้า หรือ ที่เราเรียกกันติดปากกันว่าการประกันราคานั่นเอง วันนี้จะพามารู้จักการทำการเกษตรแบบประกันราคาหรือที่ มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า เกษตรพันธสัญญา หรือ คอนแทรคฟาร์มมิ่ง (contract farming)


เกษตรพันธสัญญา หรือ คอนแทรคฟาร์มมิ่ง (contract farming) คือ ระบบการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ หรือการเพาะปลูกพืช ที่มีการทำสัญญาซื้อขายผลผลิตล่วงหน้าระหว่างฝ่ายเกษตรกร หรือเจ้าของฟาร์ม กับคู่สัญญา คือ "ผู้รับประกัน" ซึ่งมักเป็นบริษัทเอกชนที่สัญญาว่าจะซื้อผลผลิตคืนจากอีกฝ่ายในราคาที่ตกลงกันตั้งแต่ต้น เรียกว่า "ราคาประกัน" ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงได้ก็ต่อเมื่อครบกำหนดสัญญา

Charles Eaton and. Andrew W. Shepherd (๒๐๐๑) ได้สรุปประโยชน์ของการทำเกษตรพันธสัญญาในมุมมองของเกษตรกรว่าการทำสัญญากับบริษัทใหญ่สามารถอำนวยความสะดวกแก่เกษตรกรรายย่อยด้านต่างๆ เช่น เงินทุน ข่าวสาร เทคโนโลยี ตลาด สามารถช่วยป้องกันความเสี่ยงทางด้านรายได้ให้แก่ เกษตรกรเมื่อทำการเกษตรสมัยใหม่ ทำให้เกษตรกรผลิตสินค้าได้ตรงตามความต้องการของตลาดมากขึ้น ให้การผลิตมีความเชื่อมโยงกับหน่วยอื่นๆ ในห่วงโซ่คุณค่า (value chain) ทำให้ต้นทุนค่าขนส่งและค่าการตลาดลดลง นอกจากนี้ต้นทุนในการควบคุมคุณภาพและความผันผวนของปริมาณวัตถุดิบลดลงด้วย ทำให้สามารถนำไปแปรรูปได้ดีขึ้น การที่บริษัทสามารถควบคุมคุณภาพวัตถุดิบ เท่ากับเป็นการลดความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัยของอาหารที่จะเกิดกับผู้บริโภคอีกด้วย


พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ.๒๕๖๐ ได้ถูกตราขึ้นด้วยเหตุผลที่ปัจจุบันมีการนำระบบเกษตร พันธสัญญามาใช้ในกระบวนการผลิตผลิตผลหรือบริการทางการเกษตรอย่างแพร่หลาย ซึ่งหากมีการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาให้มีความเป็นธรรมตามหลักสากลจะช่วยสร้างความไว้วางใจ ความร่วมมือ ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพในการผลิต ผลิตผลหรือบริการทางการเกษตรอย่างยั่งยืน ส่งผลให้เกษตรกรมีความมั่นคง ทางด้านรายได้ และได้รับการถ่ายทอดความรู้อันจำเป็นตลอดจนเทคโนโลยีการผลิตที่มีมาตรฐาน มีการควบคุม ต้นทุนในการผลิตผลิตผลหรือบริการทางการเกษตร มีการป้องกันความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกและผู้ประกอบธุรกิจ ทางการเกษตรสามารถประกอบธุรกิจโดยได้รับผลิตผลที่มีคุณภาพมาตรฐานตามระยะเวลาที่กำหนดไว้  ซึ่งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและความเข้มแข็งทางธุรกิจของประเทศให้สามารถแข่งขันในตลาดการค้าเสรีได้ต่อไป


พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ.๒๕๖๐ ได้ให้คำนิยาม “ระบบเกษตรพันธสัญญา”หมายความว่า ระบบการผลิตผลิตผลหรือบริการทางการเกษตร ที่เกิดขึ้นจากสัญญาการผลิตผลิตผลหรือบริการทางการเกษตรประเภทเดียวกันระหว่างผู้ประกอบธุรกิจ ทางการเกษตรฝ่ายหนึ่งกับบุคคลธรรมดาซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรมตั้งแต่สิบรายขึ้นไป หรือกับสหกรณ์การเกษตรหรือกลุ่มเกษตรกรตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ หรือกับวิสาหกิจชุมชนหรือเครือข่าย วิสาหกิจชุมชนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรมอีกฝ่ายหนึ่ง ที่มีเงื่อนไขในการผลิต จำหน่าย หรือจ้างผลิตผลิตผลหรือบริการทางการเกษตรอย่างหนึ่งอย่างใด โดยเกษตรกร ตกลงที่จะผลิต จำหน่าย หรือรับจ้างผลิตผลิตผลทางการเกษตรตามจำนวน คุณภาพราคา หรือ ระยะเวลาที่กำหนดไว้ และผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรตกลงที่จะซื้อผลิตผลดังกล่าวหรือ จ่ายค่าตอบแทนตามที่กำหนดไว้ตามสัญญา โดยผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรเข้าไปมีส่วนในกระบวนการผลิต เช่น เป็นผู้กำหนดวิธีการผลิต จัดหาพันธุ์ เมล็ดพันธุ์ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร หรือปัจจัยการผลิต ให้แก่เกษตรกร (มาตรา ๔ )รัฐบาลหวังเป็นอย่างยิ่งว่า กระบวนการและกลไกตามพระราชบัญญัตินี้หากถูกใช้บังคับอย่างจริงจังและทั่วถึงทุกพื้นที่จะช่วยเหลือเกษตรกรมิให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม รวมทั้งมีความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น




อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)