เมื่อร่างกายเรา มีภูมิจากวัคซีนแล้ว ลักษณะอาการป่วย กับปริมาณไวรัส ที่เข้าสู่ร่างกาย จะไม่ได้สัมพันธ์กัน แบบตรงไปตรงมา ผู้เชี่ยวชาญไวรัส เตือนให้ระวัง !!? อาจทำให้เข้าใจผิด เมื่อรู้สึกว่าป่วย แล้วตรวจ ATK ให้ผลเป็นลบ แต่อีก 2 - 3 วันตรวจซ้ำพบว่า 2 ขีดแล้ว หรืออาการไข้ลด, คอไม่เจ็บ ไวรัสคงหมดแล้ว แต่อาจพร้อมกระจายเชื้อได้สูงมาก เรื่องนี้มีคำแนะนำ.. มาบอกกัน
ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผอ.กลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์ และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรม และเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Anan Jongkaewwattana เปิดเผยเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2565 ว่า
คงต้องย้ำอีกทีครับว่า บริบทของการตรวจ ATK วันนี้... แตกต่างจากเมื่อก่อน ที่เรายังไม่ฉีดวัคซีนกันมาก ๆ ช่วงที่ร่างกาย ยังไม่มีภูมิจากวัคซีน อาการของโรค จะเกิดจากร่างกายตอบสนองต่อไวรัส ที่เพิ่มจำนวนมาในระดับหนึ่งแล้ว สูงมากพอที่จะตรวจเจอด้วย ATK ดังนั้น เราจะเข้าใจว่า ใช้อาการเป็นเกณฑ์ในการวัด จะเจอเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งตรงไปตรงมา
แต่พอร่างกายเรา มีภูมิจากวัคซีนแล้ว บริบทจะเปลี่ยนไป... การตอบสนองต่อไวรัส จะไวกว่าเดิมมาก เมื่อร่างกายรับไวรัส ในปริมาณเพียงน้อยนิด ภูมิจากร่างกาย ก็จะตอบสนองแทบจะทันที ในลักษณะของอาการที่เรารู้สึกได้ ไม่ว่าจะ... คันคอ, มึนศีรษะ, ครั่นเนื้อครั่นตัว ทำให้เรา ซึ่งเคยชินกับบริบทเดิม ๆ ไปตรวจเพราะมีอาการ แต่ปริมาณไวรัส ยังมีไม่มากพอ จึงให้ผลเป็นลบ ทำให้เข้าใจผิดว่า ตัวเองไม่ได้เป็นโควิด นอกจากตรวจซ้ำอีก 2 - 3 วันต่อมา จะพบว่า หลายคนได้ 2 ขีดแล้ว
ประเด็นเรื่องอาการของโรค มาไวไปไว อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด อีกว่า อาการไข้ลด, คอไม่เจ็บแล้ว ไวรัสคงหมดไปแล้ว หรือ ไม่ก็ลดลงเหลือน้อยมาก จนไม่แพร่ไปคนอื่นได้ เป็นความเข้าใจที่ผิดครับ ภาพที่แสดงมานี้ แสดงให้เห็นชัดครับว่า อาการของโรค กับ ปริมาณไวรัสในร่างกาย ไม่ได้สัมพันธ์กันแบบนั้น ช่วงที่อาการสงบลง อาจเป็นช่วงที่เรา พร้อมแพร่กระจายเชื้อ ได้สูงมากอยู่ครับ การตรวจ ATK หลังอาการหมดลง ในช่วงกักตัว จะมีประโยชน์มากครับ ในช่วงนี้
สำหรับการอ่าน และการแปลผล ชุดตรวจ ATK (Antigen Test Kit) ในแบบทั่วไปนั้น Backbone MCOT มีข้อมูลจากเฟซบุ๊ก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่ได้โพสต์ชุดความรู้เรื่องนี้ โดยได้จัดทำเป็นภาพประกอบ พร้อมคำอธิบาย เพื่อสื่อสารการใช้ชุดตรวจ ATK ให้เข้าใจได้ง่ายว่า ถ้าติดโควิด จะขึ้นกี่ขีด ? ..ชุดตรวจ จะมีขีดขึ้นแบบไหน ? การอ่านค่า และการแปลผล ให้ดูอย่างไร แบบไหนที่ใช้งานไม่ได้ มีข้อมูลมาเช็กกันได้เลย
นอกจากนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังมีข้อมูลแนะนำ สาธิตการใช้ชุดตรวจ ATK : https://youtu.be/og3VJvb8VsI
#BackboneMCOT
อ้างอิง และขอบคุณข้อมูล จาก :
เฟซบุ๊ก : Anan Jongkaewwattana (ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา)
https://www.facebook.com/anan.jongkaewwattana
เฟซบุ๊ก : กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
https://www.facebook.com/DMScNews
21 ก.ค. 2565
2480 views
ขนาดตัวอักษร
อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย