X
มช. ส่ง AI รับมือภัยพิบัติ FloodBoy เฝ้าระวังน้ำหลากพื้นที่ภาคเหนือ

มช. ส่ง AI รับมือภัยพิบัติ FloodBoy เฝ้าระวังน้ำหลากพื้นที่ภาคเหนือ

2 ก.ค. 2568
220 views
ขนาดตัวอักษร

2 มิ.ย.68 - มช. ส่งนวัตกรรม “FloodBoy” เทคโนโลยี AI รับมืออุทกภัย เริ่มติดตั้งจุดเฝ้าระวังน้ำหลากในพื้นที่ภาคเหนือ


​มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย ศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ CCDC : Climate Change Data Center เตรียมรับมือน้ำท่วมเข้าติดตั้งเครื่องวัดระดับน้ำอัตโนมัติ FloodBoy เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำแบบเรียลไทม์ แจ้งเตือนภัยล่วงหน้า ในหลายพื้นที่ในภาคเหนือที่มีความเสี่ยงระวังน้ำท่วม น้ำหลาก ไปจนถึงน้ำรอการระบายจนอาจเกิดอันตรายต่อประชาชนในพื้นที่ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการป้องกันและรับมือกับภัยธรรมชาติในภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เราต้องเผชิญ

ปัจจุบันได้ติดตั้ง FloodBoy ในหลายพื้นที่ภาคเหนือ เช่น น้ำท่วมขังจุดใหม่ในโซนดอนจั่น พื้นที่ชุมชนศรีปิงเมือง พื้นที่เสี่ยงในอำเภอแม่ออน จ.เชียงใหม่ และพื้นที่เสี่ยงในบริเวณหอพักนักศึกษาร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งช่วยขยายเครือข่ายการเฝ้าระวัง จากต้นน้ำสู่ท้ายน้ำ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลอย่างรวดเร็ว สนับสนุนการตัดสินใจของหน่วยงานท้องถิ่นเมื่อเกิดฝนตกหนัก จะสามารถเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำได้แบบเรียลไทม์ สนับสนุนการวางแผนการจัดการน้ำของภาครัฐ ในอนาคตฐานข้อมูลนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาโมเดลพยากรณ์ความเสียหายจากน้ำท่วมน้ำหลาก ช่วยวางแผนรับมือนำท่วม และแจ้งเตือนประชาชนได้อย่างทันท่วงที

​FloodBoy "ระบบพลังงานอัจฉริยะ" เครื่องตรวจวัดและติดตามระดับน้ำที่สามารถส่งข้อมูลได้ต่อเนื่อง 30 วัน ใช้พลังงานจาก Solar Cell พร้อมแบตเตอรี่สำรอง แม้ในวันที่ไร้แสงแดด ตรวจวัดระดับน้ำอย่างแม่นยำ (+2mm) ด้วยเทคโนโลยีคลื่นไมโครเวฟจากเซ็นเซอร์แบบเรดาร์ ส่งข้อมูลออนไลน์แล้วอัปโหลดเก็บที่ Cloud Server และแสดงผลบนเว็บไซต์แบบReal time ทุก 1 นาที ซึ่ง FloodBoy ติดตั้งง่าย เคลื่อนย้ายสะดวก ใช้งานได้ทันทีหลังเปิดเครื่อง มีลักษณะโครงสร้างทนแดดทนฝน เหมาะกับการใช้งานภายนอกอาคาร

โครงการวิจัยนี้เป็นผลงานที่ร่วมพัฒนาโดย นักศึกษาปริญญาเอก ณัฐ วีระวรรณ์ (โปรแกรม Climate Change Management - CCM) หลักสูตร Integrated Sciences (MIdS School) และทีมวิจัย CCDC มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ด้วยเทคโนโลยี AI (Claude AI, Claude Code, GitHub Copilot) ภายใต้การดูแลของ รองศาสตราจารย์ ดร. เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล ผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ (UNISERV) และหัวหน้าหน่วยวิจัยเพื่อการจัดการพลังงานและเศรษฐนิเวศ (3E) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)