X
สร้างสวนป่า “เบญจกิติ”

สร้างสวนป่า “เบญจกิติ”

26 ต.ค. 2563
960 views
ขนาดตัวอักษร

วันนี้ (26 ตุลาคม 2563) พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีร่วม ลงนาม MOU สร้างสวนป่า “เบญจกิติ” ระยะที่ 2-3 ระหว่าง กรมธนารักษ์ กับ กองทัพบก  พร้อมด้วย นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมในพิธี




ด้าน นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์  กล่าวว่า ในปี 2534 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้ย้ายโรงงานยาสูบทั้งหมดไปอยู่ส่วนภูมิภาค และให้พัฒนาพื้นที่เดิมของโรงงานยาสูบ เนื้อที่ประมาณ 430 ไร่ เป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ โดยให้กระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการ ต่อมาในปี 2535 รัฐบาลมีโครงการจัดสร้างสวนสาธารณะบริเวณพื้นที่โรงงานยาสูบดังกล่าว เพื่อร่วมโครงการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ และในปี 2537 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระราชทานชื่อสวนสาธารณะดังกล่าวว่า “เบญจกิติ” มีการออกแบบสวนสาธารณะ เป็น 2 ส่วน คือ สวนน้ำ (เนื้อที่ 130 ไร่) และสวนป่า (เนื้อที่ 300 ไร่). กระทรวงการคลัง โดยกรมธนารักษ์จึงได้ดำเนินการจัดสร้างสวนสาธารณะตามการส่งมอบพื้นที่ของโรงงานยาสูบแห่วประเทศไทย โดยในปี 2547 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเสด็จเปิดสวนน้ำ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2547  สำหรับสวนป่า “เบญจกิติ” แบ่งเป็น 3 ระยะ โรงงานยาสูบ  แห่งประเทศไทยเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง ภายในกรอบวงเงิน 950 ล้านบาท กระทรวงการคลัง โดยกรมธนารักษ์ได้ดำเนินการก่อสร้างสวนป่า “เบญจกิติ” ระยะที่ 1 เนื้อที่ 61 ไร่ แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2559 และเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2559 รัฐบาลได้จัดกิจกรรมงานเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559 ณ พื้นที่สวนป่า “เบญจกิติ” ระยะที่ 1 โดยมีนายกรัฐมนตรี  (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) เป็นประธาน และได้ส่งมอบพื้นที่สวนป่า “เบญจกิติ” ระยะที่ 1 เนื้อที่ 61 ไร่ ให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้ดูแลบำรุงรักษาแล้ว นายยุทธนา กล่าวเพิ่มต่อว่า ในปี 2562 คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบความคืบหน้าโครงการจัดสร้างสวนป่า “เบญจกิติ” ระยะที่ 2-3 ตามกรอบการดำเนินงาน 4 กระบวนงาน ประกอบด้วย งานรื้อถอน งานออกแบบ งานจ้างที่ปรึกษาบริหารโครงการ (PMC) และงานก่อสร้าง โดยมีแผนการก่อสร้างโครงการจัดสร้างสวนป่า “เบญจกิติ” ระยะที่ 2-3 แล้วเสร็จสมบูรณ์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 และแบ่งการก่อสร้างออกเป็น  2 พื้นที่ คือ พื้นที่ก่อสร้างที่ 1 ช่วง 8 เดือนแรก จะก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2564 เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในวันที่ 12 สิงหาคม 2564 และพื้นที่ก่อสร้างที่ 2 ดำเนินการในส่วนงานสวนที่เหลือ งานปรับปรุงอาคารเดิม ให้เป็นอาคารกีฬาและอาคารพิพิธภัณฑ์ให้แล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2565  บริษัท สถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ จำกัด ผู้ออกแบบโครงการสวนป่า “เบญจกิติ” ระยะที่ 2-3 เนื้อที่ประมาณ 259 ไร่ ภายใต้แนวคิดในการสืบสานพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการปลูกป่าในใจคน ด้วยการเป็นสวนป่าสำหรับคนเมือง (Urban Forest) ที่เชื่อมโยงและเอื้อต่อการ เข้ามาทำกิจกรรมและใช้ประโยชน์ในวิถีชีวิตของคนเมือง เป็นแห่งเรียนรู้มีชีวิต ที่สร้างความผูกพันและสำนึกรักในคุณค่าของป่า น้ำ ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อนำไปสู่การมีส่วนร่วมและสำนึกหวงแหนดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมอย่างยั่งยืน  ทั้งนี้  ในการออกแบบเน้นให้มีพื้นที่สวนป่ามากที่สุด มีการปลูกต้นไม้ใหญ่ ต้นไม้พุ่มไม้คลุมดิน ไม้น้ำ หลากหลายชนิดพันธุ์  มีงานสร้างอัฒจันทน์  ทางเดินลอยฟ้า  ทางวิ่ง  ทางจักรยาน และทางเดินโดยรอบโครงการ โดยให้มีสิ่งปลูกสร้างที่เหมาะสมและกลมกลืนกับความเป็นสวนสาธารณะในเมือง นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงอาคารเดิม (อาคารโกดังเดิม อาคารพิพิธภัณฑ์ และอาคาร Pavilion) ให้สามารถ ใช้งานได้อย่างสมบูรณ์แบบและตรงตามวัตถุประสงค์ในการจัดสร้างโครงการฯ




ทั้งนี้ เพื่อให้การก่อสร้างสวนป่าในพื้นที่ก่อสร้างระยะที่ 1 แล้วเสร็จตามแผนที่กำหนด และสามารถจัดงานเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในวันที่ 12 สิงหาคม 2564 ได้ทันตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด กรมธนารักษ์ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอำนวยการจัดสร้างสวนป่า “เบญจกิติ” ซึ่งมีราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังที่กำกับดูแลกรมธนารักษ์ เป็นประธานกรรมการ จึงได้ขอความร่วมมือจากกองทัพบก เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างสวนป่า “เบญจกิติ” ระยะที่ 2-3 เนื้อที่ประมาณ 259 ไร่ และในวันนี้ได้กำหนดให้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินการก่อสร้างสวนป่า “เบญจกิติ” ระยะที่ 2-3 ระหว่างกรมธนารักษ์กับกองทัพบก อธิบดีกรมธนารักษ์กล่าวในที่สุด



อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล