X
รู้จัก “จินดามณี” หนังสือแบบเรียนเล่มแรกของไทย

รู้จัก “จินดามณี” หนังสือแบบเรียนเล่มแรกของไทย

25 เม.ย 2566
24020 views
ขนาดตัวอักษร

หนังสือ “จินดามณี” เป็นหนังสือแบบเรียนเล่มแรกของไทยที่ใช้ในการสอนหนังสือแต่งโดยพระโหราธิบดี เชื่อกันว่าใช้มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ชื่อที่ปรากฏเขียนแตกต่างกันเป็น จินดามนี จินดามุนี บ้าง แต่ที่ถูกต้องคาดว่าคือ “จินดามณี” ที่เป็นชื่อแก้วสารพัดนึกอย่างหนึ่ง ดังปรากฏในโคลงบทท้ายหนังสือ ฉบับที่พระโหราธิบดีแต่ง ดังนี้

    ลิขิตวิจิตรด้วย            ศุภอรรถ
ด่งงมณีจินดารัตน         เลอศแล้ว
อันมีศิริสวัสดิ                โสภาคย์
ใครรู้คือได้แก้ว            ค่าแท้ควรเมืองฯ


อย่างไรก็ตาม หนังสือจินดามณี ไม่ได้มีฉบับเดียวเนื่องจากมีการปรับปรุงแบบเรียนให้สอดคล้องกับยุคสมัย โดยยึดต้นแบบจากหนังสือจินดามณีของพระโหราธิบดีเป็นมาตรฐานดังต่อไปนี้

- จินดามณี เล่ม 1 ฉบับพระโหราธิบดี

- จินดามณี เล่ม 2 ฉบับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท

- บันทึกหนังสือเรื่องจินดามณี ของนายธนิต อยู่โพธิ์ (อดีตอธิบดีกรมศิลปากร)

- จินดามณีฉบับพระเจ้าบรมโกศ โดยนายขจร สุขพานิช นำมาจากกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ


หนังสือจินดามณีใช้ในการเรียนอย่างแพร่หลาย แต่เนื่องด้วยยังไม่มีวิทยาการการพิมพ์ ทำให้ต้องคัดลอกต้นฉบับสืบต่อกันเพื่อเรียนรู้ ทำให้สำนวนต่าง ๆ คลาดเคลื่อนไปบ้าง นายธนิต อยู่โพธิ์ (อดีตอธิบดีกรมศิลปากร) ได้ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้พบว่า หนังสือจินดามณีฉบับพระโหราธิบดีนั้น มีสำนวนที่คลาดเคลื่อนออกไปแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

1. จินดามณีฉบับความพ้อง เป็นหนังสือจินดามณีที่มีใจความส่วนใหญ่พ้องกันอาจมีส่วนที่แตกต่างกันบ้าง เข้าใจว่าเป็นฉบับที่คัดลอกมาจากจินดามณีของพระโหราธิบดี แต่อาจจะคัดลอกตกหล่นแล้วเติมเฉพาะส่วนลงไปโดยไม่ได้มีเจตนาให้แตกต่างจากต้นฉบับ

2. จินดามณีฉบับความแปลก เป็นหนังสือจินดามณีที่มีเนื้อความแตกต่างไปจากฉบับความพ้องเป็นอย่างมาก อาจมีการแต่งเสริมเพิ่มหรือตัดบางตอนจากจินดามณีฉบับความพร้อมออกไป

3.  จินดามณีฉบับกรมหลวงวงษาธิราชสนิท (สมัยรัชกาลที่ 3) เป็นฉบับที่แต่งเลียนแบบจินดามณีฉบับพระโหราธิบดี แต่ปรับปรุงให้เข้าใจง่ายขึ้น เพื่อใช้สอนพระราชโอรสและพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3)

4. จินดามณีฉบับหมอบรัดเล เป็นฉบับที่รวบรวมหนังสือแบบเรียนพิมพ์รวมเล่มไว้ ทั้งจินดามณี ประถม ก.กา ประถมมาลา และปทานุกรม อีกทั้งยังมีการเพิ่มคำอธิบายไว้ในเล่มนี้อีกด้วย


เนื้อหาของจินดามณีแบ่งเนื้อหาออกเป็น 2 ส่วน คือ เป็นแบบเรียนสำหรับผู้ที่เริ่มศึกษาอักษรไทย และส่วนที่เป็นตำราชั้นสูงในตอนที่เกี่ยวข้องกับฉันทลักษณ์ เนื้อหาที่อยู่ในหนังสือจินดามณีนั้น เป็นตำราสรุปย่อช่วยจำมากกว่าแบบฝึกหัด โดยเนื้อหาภายในสรุปคร่าว ๆ ได้ ดังนี้

1. อักษรศัพท์

เป็นการรวบรวมคำที่เขียนยาก อ่านยาก หรือคำที่มักเขียนผิดเอาไว้เป็นหมวดหมู่ เพื่อให้นักเรียนทบทวน แต่ไม่ได้มีคำอธิบายเอาไว้


- ภาพต้นฉบับลายมือหนังสือจินดามณี, ไหว้ครู, อักษรศัพท์. (วิวัฒนาการหนังสือแบบเรียนภาษาไทย,​ น. 38)


2. การใช้  ศ ษ ส

เริ่มต้นด้วยการไหว้ครูและอธิบายการใช้ ศ ษ ส ด้วยฉันท์ 14 (วสันตดิลก) ตอนท้ายเป็นการอธิบายและตัวอย่างการใช้สระ ไอ และ ใอ จบด้วยการใช้ ฤ ฤา ฦ ฦา ในการประพันธ์โคลง ฉันท์

3. การแจกลูกอักษร

จะอธิบายสระ พยัญชนะ การผสมอักษร และการผันเสียงวรรณยุกต์โดยละเอียด

4. การอธิบายตัวสะกด

มีข้อความอธิบายเป็นโคลงสี่สุภาพถึงตัวสะกด และคำอธิบายความเรียงอีกเล็กน้อยที่เป็นผู้อื่นแต่งเพิ่มเติม

5. อธิบายการแต่งคำประพันธ์

เป็นการอธิบายการแต่งโคลงที่รวมอยู่กับส่วนที่อธิบายการแต่ง ฉันท์ ซึ่งเป็นส่วนที่มีความยาวมากกว่าตอนอื่น โดยในส่วนที่เป็นคำประพันธ์นี้ ว่ากันว่าพระโหราธิบดีต้องการให้เป็นตำราวิชาการชั้นสูงสำหรับผู้ที่สนใจหรือรักในเรื่องกวีนิพันธ์

หนังสือจินดามณีใช้เป็นแบบเรียนไทยมาอย่างยาวนาน และได้ยกเลิกใช้ไปในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ได้แต่งหนังสือมูลบทบรรพกิจเป็น “แบบเรียนหลวง” นั่นเอง


ขอบคุณข้อมูลจาก

  • กรมศิลปากร.  (2561).  จินดามณี เล่ม 1 และ จินดามณี ฉบับใหญ่ บริบูรณ์.  (พิมพ์ครั้งที่ 2).  กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร.
  • ธวัช ปุณโณทก.  (2538).  วิวัฒนาการหนังสือแบบเรียนภาษาไทย.  (พิมพ์ครั้งที่ 7).  กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)