17 ก.ย.64 - ปัจจุบันประเทศไทย ได้ปลดล็อกพืชกระท่อม พ้นจากสถานะยาเสพติด ซึ่งมีหลายคนเริ่มสนในสรรพคุณประโยชน์ ร่วมถึงโทษของพืชชนิดนี้ วันนี้เรามาดูกันว่าพืชกระท่อมนั้นมีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง
รู้จักพืชกระท่อม
-พืชกระท่อม เป็นไม้ต้นขนาดกลาง ต้นสูงได้ถึง 15 เมตร เป็นพืชใบเดี่ยว
-ใบมีลักษณะคล้ายรูปไข่ ปลายแหลม โคนป้าน หูใบระหว่างก้านใบเป็นแผ่นคล้ายใบ
-ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น ประกอบด้วยดอกสีเหลือง
-ในประเทศไทยมีหลายพันธุ์ พันธุ์ที่นิยมบริโภคกันมากคือ “พันธุ์ก้านแดง”
-พืชกระท่อม สามารถนำมาใช้ได้ทุกส่วน ทั้งส่วสราก ต้น กิ่งก้าน ใบ ดอก และผล สามารถนำมาปรุงยาได้หมด
สรรพคุณทางการแพทย์แผนไทย
-พืชกระท่อมเป็นส่วนผสมในตำรับยาโบราณ ข้อมูลปรากฏในแพทย์แผนโบราณของ “ขุนโสภิต บรรณาลักษณ์” (อำพัน กิตติขจร) หรือตำรับยาแพทยศาสตร์สงเคราะห์ ซึ่งเป็นตำราที่ ก.สาธารณสุข ให้การรับรอง
-ตามการแพทย์แผนไทย กระท่อมเป็นสมุนไพรที่นิยมนำมาใช้เป็นตัวยาในตำรับยาแก้ท้องเสีย ปวดเบ่ง ท้องร่วง เช่นตำรับยาประสะกระท่อม เป็นต้น
-ยังสามารถนำไปผสมในตำรับยาแก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ แก้อักเสบ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ในสมัยโบราณ ยังเอามาใช้สำหรับการอดฝิ่น แก้อาการ “ลงแดง”
-ไม่นิยมใช้เป็นยาเดี่ยวในการรักษา
-ในส่วนของใบพืชกระท่อม มีสารสำคัญที่เรียกว่า “ไมทราไจนีน” (Mitragynine) ซึ่งเป็นสารในกลุ่มอัลคาลอยด์
-ข้อดี ของสารไมทราไจนีน ในพืชกระท่อม
งานวิจัยพบว่า สารนี้ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง เชื่อว่าสามารถลดอาการปวด ทำให้รู้สึกชา กดความรู้สึกเมื่อยล้าขณะทำงาน ช่วยใช้กระปรี้กระเปร่า
-ข้อเสีย ของสารไมทราไจนีน ในพืชกระท่อม
หากใช้ต่อเนื่องเป็นประจำ อาจทำให้ภาวะติดการใช้ได้ เนื่องจากเมื่อหยุดใช้บางรายมีอาการอ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ หงุดหงิด เป็นต้น แต่เมื่อกลับมาใช้ใหม่จะรู้สึกสบายและอาการดังกล่าวหายไป ทำให้รู้สึกไม่สามารถหยุดใช้ได้
ดังนั้นหากนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่มีกฎหมายควบคุม เช่น ยา อาหาร ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ฯลฯ จำเป็นต้องขออนุญาตกับ อย. เพื่อความปลอดภัยและเพื่อยืนยันประสิทธิภาพและคุณประโยชน์ที่ชัดเจน
ส่วนกรณีนำมาใช้ภายในครัวเรือน ชุมชน ควรปรึกษาผู้ที่มีความรู้หรือมีประสบการณ์ เช่น หมอพื้นบ้าน หรือบุคลากรทางสาธารณสุข ก่อนรับประทาน เนื่องจากอาจจะเกิดอาการอันไม่พึงประสงค์ เช่น อาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหารถ้ารับประทานต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน อาจจะทำให้ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีผิวคล้ำและเข้มขึ้น และอาจเกิดภาวะติดการใช้ได้
ข้อควรระวัง
-การนำกระท่อมมาใช้ในทางที่ผิด เช่น นำไปทำ 4 คูณ 100 โดยใช้น้ำใบกระท่อมเป็นส่วนผสม และอื่นๆ ทำให้เกิดอาการมึนเมา เป็นสิ่งผิดกฎหมาย และมีโทษต่อร่างกายในระยะยาว