X
ไทย หารือ 2 ชาติ ร่วมมือแก้ปัญหาโลกร้อน เวที COP26

ไทย หารือ 2 ชาติ ร่วมมือแก้ปัญหาโลกร้อน เวที COP26

11 พ.ย. 2564
470 views
ขนาดตัวอักษร

11 ..64 - ไทย หารือทวิภาคี 2 เวที ระหว่างไทย-สวิสฯ และ ไทย-ลาว แลกแปลี่ยนข้อมูลสำคัญ และหาทางร่วมมือเดินหน้าลดก๊าซเรือนกระจก แก้ปัญหาโลกร้อนให้ได้ตามเป้า ระหว่างการประชุม COP26


กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตัวแทนประเทศไทย ในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 หรือ COP26  เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร


โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของไทย และนางซิโมเน็ตตาซอมมารุก้า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม การขนส่ง พลังงาน และการสื่อสาร สมาพันธรัฐสวิส ได้เข้าหารือความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศ ในการแลกเปลี่ยนถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศ ภายใต้ความตกลงปารีส  (NDCs) เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้ได้ตามเป้าหมายของแต่ละประเทศ           

โดยทั้ง 2 ประเทศได้เน้นย้ำความตั้งใจร่วมกันแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะทวีความรุนแรงขึ้นต่อเนื่อง พร้อมจะสนับสนุนการเจรจาที่กำลังดำเนินอยู่ให้ประสบผลสำเร็จ แล้วนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่จะช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานในภาพรวมของโลกอย่างแท้จริง 


นายวราวุธ ศิลปอาชารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย กล่าวว่า การกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่ท้าทายของประเทศไทย ที่มุ่งสู่การเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065 

โดยไทยให้ความสำคัญกับความร่วมมือระหว่างประเทศและการสนับสนุนจากกลไกภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ เพื่อมุ่งบรรลุตามเป้าหมายดังกล่าวทั้งเรื่องของการเงินสีเขียว การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการเสริมสร้างขีดความสามารถที่ผ่านมาไทยให้ความสำคัญกับการจัดทำแผนและแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจนมุ่งบรรลุตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ 

ส่วนในระยะต่อไปกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะเน้นขับเคลื่อนแผนงานต่างๆไปสู่การปฏิบัติ ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม สำหรับความร่วมมือกับสมาพันธรัฐสวิสภายใต้แนวทางการถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศของข้อ 6 ของความตกลงปารีส (NDCs) เป็นประเด็นหนึ่งที่ไทยให้ความสนใจ ด้วยอาจได้รับการสนับสนุนทางการเงิน ถ่ายทอดเทคโนโลยี และการเสริมสร้างขีดความสามารถ โดยเฉพาะมีผลต่อภาคเอกชนในประเทศ            


ด้านสมาพันธรัฐสวิสได้เห็นพ้องเช่นกันว่าการดำเนินความร่วมมือนี้ของภาครัฐจะนำมาสู่การพัฒนาโครงการและกิจกรรมที่ช่วยขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ควบคู่กับการสร้างความตระหนักและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน 

โดยสวิสมีความสนใจจะพัฒนาโครงการรถโดยสารสาธารณะพลังงานไฟฟ้า (E-bus) ในประเทศไทย ภายใต้แนวทางการถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศของข้อ 6 ของความตกลงปารีส (NDCs) เนื่องจากสวิสประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีสาขานี้ ทำให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ ช่วยลดมลพิษทางอากาศและเสียง และได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากภาคประชาชน 

ทั้งนี้ 2 ประเทศต่างยึดถือหลักการสำคัญเรื่องความโปร่งใสในการดำเนินงานและการไม่ให้เกิดการนับซ้ำของผลการลดก๊าซเรือนกระจกภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว ทั้งนี้นายวราวุธ ยังได้กล่าวเชิญชวนสมาพันธรัฐสวิสเดินทางมาเข้าร่วมงาน “Thailand Climate Action Conference” ที่จะจัดขึ้นช่วงวันสิ่งแวดล้อมโลกในเดือนมิถุนายน 2565 ที่จะเป็นเวทีเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนนำเสนอสถานการณ์ ประสบการณ์ และมีส่วนร่วมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของตนเองในรูปแบบ “วิธีวิเคราะห์จากล่างขึ้นบน


ในวันเดียวกันนี้ ไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้เข้าหารือแลกเปลี่ยนมุมมองการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยีที่ส่งเสริมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ นายบุณคำ วรจิตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หารือทวิภาคีร่วมกันเกี่ยวกับการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในระหว่างการประชุมCOP26


โดยทั้ง 2 ฝ่ายได้แลกเปลี่ยนมุมมองประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญร่วมกัน ในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คุณภาพอากาศและหมอกควันข้ามแดน และการจัดการขยะพลาสติก ที่ทั้ง 2 ประเทศมุ่งเน้นยกระดับการดำเนินงานในการลดก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยีที่ส่งเสริมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญจะช่วยให้บรรลุเป้าหมายที่แต่ละประเทศกำหนดไว้ได้ โดยเฉพาะการปรับตัวของผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 


ซึ่งทั้งไทยและ สปป.ลาว ต่างได้รับผลกระทบรุนแรงด้านสภาพภูมิอากาศเช่นกัน ทั้งผลกระทบจากการหนุนสูงของน้ำทะเล น้ำป่าไหลหลาก การเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลกระทบการเพาะปลูกและเศรษฐกิจของประเทศ 


ทั้งนี้ สปป.ลาว ได้แสดงความขอบคุณความร่วมมือจากไทยต่อโครงการจัดสร้างสวนรุกขชาติไทย-ลาว และขอรับการสนับสนุนการพัฒนาสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ การจัดการหมอกควันข้ามแดน การจัดการขยะพลาสติก การผลิตพลังงานจากขยะ และการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีเชิงนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

ซึ่งไทยแสดงท่าทียินดีสนับสนุนและพร้อมแลกเปลี่ยนเชิงนโยบายร่วมกันจะเป็นประโยชน์ให้ทั้ง 2 ประเทศสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้เป็นรูปธรรม เนื่องจากไทยและ สปป.ลาว มีปัจจัยทางภาษา วัฒนธรรม และวิถีชีวิตคล้ายคลึงกัน ทั้งนี้ประเทศยังเห็นพ้องร่วมกันเกี่ยวกับการขับเคลื่อนนโยบายภาครัฐให้ประสบความสำเร็จได้ต้องเกิดจากการขับเคลื่อนของภาคเอกชนและภาคประชาชนด้วย 


ซึ่งการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างไทยและ สปป.ลาว จะช่วยเสริมให้การแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติเป็นรูปธรรมบนฐานของการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน แล้วยังสามารถบูรณาการประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมให้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานในมิติต่างๆได้ เพราะเรื่องสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะมีความสำคัญมากขึ้นต่อสังคมโลกในอนาคต

Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล