ใกล้เข้ามาแล้วประเพณีนมัสการรอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏ (พระบาทพลวง) ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 22 ม.ค.-21 มี.ค.66 BackboneMCOT เลยขอพาไปดูข้อควรรู้ต่างๆ ในการเดินทางขึ้นเขาคิชฌกูฏ ไปจนถึงวิธีขอพรตามหลักความเชื่ออย่างไรให้ได้สมดังใจหวัง
ในช่วงเทศกาลตรุษจีนถึงช่วงวันมาฆบูชาของทุกปี จะมีประชาชนขึ้นไปนมัสการรอยพระพุทธบาททั้งกลางวันและกลางคืนเป็นจำนวนมาก สำหรับในปี2566 อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี ได้กำหนดการวันจัดงานงานประเพณีนมัสการรอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏ (พระบาทพลวง) วันที่ 22 มกราคม - 21 มีนาคม พ.ศ. 2566
เริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อใดไม่มีประวัติชัดเจน ทราบเพียงพบรอยพระพุทธบาทตั้งแต่ พ.ศ. 2397 มีความเชื่อกันว่าหนึ่งในชีวิตจะต้องหาโอกาสขึ้นไปนมัสการรอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏ (พระบาทพลวง) นับเป็นรอยพระพุทธบาทที่สูงที่สุดในประเทศไทย ประดิษฐานอยู่บนภูเขาสูงจากระดับน้ำทะเล 1,050 เมตร อยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ ต.พลวง อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี
อ่าน ► "เขาคิชฌกูฏ" ตำนานแห่งศรัทธา
การขอพรในเส้นทางไปนมัสการรอยพระพุทธบาท มีความเชื่อว่าไม่ว่าจะขอพรในจุดใดก็ตามให้ทำจิตใจให้แน่วแน่ ศรัทธา แล้วอธิษฐานขอพรเพียง 1 ข้อเท่านั้น โดยให้ขอพรเหมือนกันในทุกจุด ห้ามบนบาน แล้วจะสำเร็จตามที่หวัง โดยการสักการะขอพรมีจุดสำคัญ 19 จุด ได้แก่
1. ไหว้พระบาทจำลอง ที่ต้นศรีมหาโพธิ์
2. ขึ้นศาลาไหว้พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ 9 องค์ ปิดทองรูปใดรูปหนึ่ง และขอพรขอบารมีรูปนั้นให้ครบ 9 ครั้ง
3. จุดเทียนธูป หน้าห้องกระจก ตั้งสัจจะขอในสิ่งที่เราต้องการต่อหน้าสังขาร พระครูพุทธบทบริบาร (หลวงพ่อนัง)
4. ประพรมน้ำพุทธมนต์ ให้เป็นสิริมงคลก่อนที่จะเดินขึ้นเขาคิชฌกูฏ
5. ตั้งสัจจะ ขอที่พระอภิบาลมงคลพุทธไสยาสน์
6. จุดเปลี่ยนรถที่ 1 ไหว้เจดีย์กลางเขา เจ้าแม่กวนอิม, พระพรหม, พระพิฆเนศวร, แม่โพสพ, บาตรแห่งมหาโชคลาภ
7. เปลี่ยนรถที่ 2 ไหว้พระสิวลี พระแม่ธรณีบีบมวยผมพระนอน, พระมาลัย
8. ท้าวเวสสุวรรณ, ท้าวพิเภก, พระพิฆเนศวร, แม่ธรณีบีบมวยผม แล้วเคาะระฆัง 2 ข้างทาง
9. สิ่งมหัศจรรย์ รอยเสือใหญ่, รอยกวางทอง, พระศิวะ, พระนาคปรก
10. จุดพักขึ้นประตูสวรรค์ ไหว้พระป่าเรไร, ถวายสังฆทาน, ไหว้พระพรหม แล้วเคาะระฆังขึ้นสวรรค์
11. ไหว้หมอชีวกโกมารภัทร, ฆ้อง, ธรรมจักร, นมัสการรอยพระบาท, เจ้าแม่กวนอิม, ท้าวมหาพรหมวิหาร(กองอำนวยการ)
12. ลานอินทร์ เป็นลานที่พระอินทร์ลงมาประทับที่สถานที่แห่งนี้ เลยนำรูปท่านมาประดิษฐานไว้ที่นี่ และมีผู้อธิษฐานขอแล้วประสบความสำเร็จในเรื่องเนื้อคู่, ที่อยู่อาศัย, ไหว้เทพเทวดา, สักการะบูชาพระบรมสารีริกธาตุ, พระปิยมหาราช, สมเด็จพระพุฒาจารย์โต (พรหมรังษี)
13. นมัสการพระสิวลี, พระพิฆเนศวร
14. ปิดทอง พร้อมทั้งขอพรจากลูกแก้วสารพัดนึก
15. สักการะบาตรพระอานนท์ (บาตรใหญ่) ลานบายศรี เป็นที่บูชาเทพ
16. สักการะบาตรพระสิวลี บาตรแห่งความร่ำรวย และมั่งคั่ง
17. ไหว้แม่นางตะเคียน ให้โชคลาภแก่เรา
18. ลานพรหมบรรทม เป็นสถานที่พระพรหมบรรทม ควรไหว้พระและสวดมนต์บูชาพระพรหมบาตรพระโมคคัลลานะ อยู่ใกล้กับลานพรหมบรรทม
19. บาตรพระสารีบุตร และผ้าแดง เป็นสถานที่เดียวกับผ้าแดง ให้เขียนชื่อ นามสกุล บ้านเลขที่บนผ้าแดงแล้วอธิษฐานจิตตามปรารถนาของตนเอง
โดยผู้ที่เดินทางขอให้เตรียมร่างกายให้พร้อม เตรียมอาหารและน้ำดื่มขึ้นไปเอง เพราะข้างบนไม่มีขาย ส่วนใครมีโรคประจำตัว ควรเตรียมยาไปด้วย เผื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ใส่เสื้อผ้ามิดชิด หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีคนเยอะ ห้ามนำดอกไม้ทุกชนิดไปโรยตามทางและพระพุทธบาทหลวง และห้ามนำธูปเทียนขึ้นไปจุดและปักสักการะระหว่างทางเดินขึ้นเขา ไม่อนุญาตให้นำสัตว์เลี้ยงเข้าพื้นที่อุทยานฯ และไม่อนุญาตให้กางเต้นท์นอนบริเวณอุทยานฯ
ในการขึ้นเขาคิชฌกูฏ ทางอุทยานแห่งชาติฯ จะกำหนดเวลาเป็น 4 ช่วงเวลา ใน 1 วัน ได้แก่ 00.00-06.00น. , 06.00-12.00น. , 12.00-18.00น. และ 18.00-24.00น. โดยกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยว และผู้แสวงบุญไว้ที่ 6,000 คนต่อช่วงเวลา
สำหรับใครที่จะขึ้นไปสักการะรอยพระพุทธบาท บนยอดเขาคิชฌกูฏ ทางอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ ได้เปิดให้จองคิวผ่านแอปพลิเคชั่น KCQue ไปแล้วในโควต้า 4,500 คนต่อรอบ แต่หากที่ใครจองคิวไม่ทันยังสามารถ Walk in ได้โดยมีโควต้า 1,500 คนต่อรอบ
นอกจากนั้น ยังมีการกำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะเดินขึ้นเขาพระบาท จำนวน 500 คน/วัน แบ่งเป็น เดินทางหน่วย คก 1 (พระบาทพลวง) 350 คน/วัน และเดินทางบ้านแกลง 150 คน/วัน ดังนั้น ในแต่ละวันจะมีจำนวนนักท่องเที่ยว ประมาณ 24,500 คน ต่อวัน นักท่องเที่ยว
การเดินทางไปยังยอดเขานั้น สามารถเดินทางได้โดยเริ่มจากตัวอำเภอเมืองจันทบุรีผ่านแยกเขาไร่ยา ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 3249 ระยะทางประมาณ 18 กิโลเมตร โดยใช้ทางขึ้นเขาพระบาทพลวง (ทางขึ้นคนละจุดกับอุทยานฯ ) เมื่อถึงวัดพระบาทพลวงต้องจอดรถส่วนตัวทิ้งไว้ (มีลานจอดรถไว้บริการ) จากนั้นมีรถสองแถวบริการขึ้นเขาพระบาท แล่นผ่านถนนลูกรังที่ลาดชันและคดเคี้ยวมาก ระยะทาง 8 กิโลเมตร จากนั้นต้องเดินขึ้นเขาไปอีก 1.2 กิโลเมตร ระหว่างทางมีจุดแวะพักให้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทิวทัศน์บนยอดเขาคิชฌกูฏหรือเขาพระบาท และหากต้องการเดินต่อไปจนถึงเขตผ้าแดง จะต้องเดินขึ้นเขาต่อจากลานพระบาทไปอีก 800 เมตร
ขอบคุณข้อมูลจาก :
อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย