นายกฯ เปิดโครงการ “Thailand Summer Festivals” ตอกย้ำเสน่ห์วัฒนธรรมไทย ย้ำงานสงกรานต์ ปีนี้รัฐบาลจัดยิ่งใหญ่ระดับเวิลด์คลาส พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก
นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ “Thailand Summer Festivals” ความมหัศจรรย์ของเมืองไทยภายใต้แนวคิด “7 Months 7 Wonders Summer Festivals” อัดแน่นเทศกาลงานประเพณีใน 7 หมวดหมู่ ได้แก่ เทศกาลสงกรานต์ เทศกาล Pride เทศกาลทางวัฒนธรรม ดนตรี กีฬา อาหาร และเทศกาลเชิงศิลปะและความสร้างสรรค์ หวังสร้างสีสันปลุกความคึกคักให้ท่องเที่ยวไทย ลดช่องว่างโลว์ซีซั่นให้ท่องเที่ยวได้อย่างต่อเนื่องตลอด 7 เดือน ระหว่างเดือนมีนาคม - กันยายน 2568 โดยมี นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมทั้ง 14 สาขา และผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงาน
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมีความตั้งใจให้ภาคการท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ซึ่งคิดเป็นกว่าร้อยละ 14 ของ GDP โดยตั้งเป้ายกระดับให้ประเทศไทย เป็นจุดหมายปลายทางที่สามารถท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี ทั้งช่วง Low Season ที่เต็มด้วยเทศกาล งานประเพณี ความเชื่อ สำหรับ Thailand Summer Festival รัฐบาล ได้รวบรวมหลากหลายเทศกาลและกิจกรรมตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวสู่ทุกภูมิภาคของประเทศ ครอบคลุมทั้งเมืองหลักและเมืองน่าเที่ยว เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง สะท้อนความเป็นไทยได้อย่างน่าสนใจในทุกภาคทุกจังหวัด และให้ทั้ง 12 เดือน เป็นทุกเดือนที่ท่องเที่ยวได้ไม่ต้องมีช่วง Low Season นอกจากนี้ เป็นการควบคุมราคาโรงแรมไม่ให้ตกต่ำเกินไป ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลจะผลักดันให้เต็มรูปแบบ โดยมีงาน Maha Songkran World Water Festival 2025 ณ ท้องสนามหลวง ระหว่างวันที่ 11 - 15 เมษายน 2568 จะเป็นไฮไลต์สำคัญที่มุ่งยกระดับประเพณีสงกรานต์ของไทย จากการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของ UNESCO ก้าวสู่ระดับ World Event อย่างแท้จริง ซึ่งในปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวกว่า 1.5 ล้านคน เดินทางมาเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 67 เพิ่มขึ้นจากปี 66 ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ และในปีนี้รัฐบาลยังคงเดินหน้ายกระดับศักยภาพประเทศไทย ผลักดันอัตราการเติบโตของการท่องเที่ยว ทั้งในแง่ของจำนวนและรายได้ของประชาชนอย่างต่อเนื่อง
นายกรัฐมนตรี เชิญชวนคนไทยร่วมกันเฉลิมฉลองกับงาน Thailand Summer Festivals ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนสำคัญในการดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนที่จะช่วยสร้างบรรยากาศแห่งความสนุกสนานและความมหัศจรรย์ในหลายเทศกาล หากช่วง Summer Festival ประสบความสำเร็จในการดึงดูดนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ก็จะส่งผลต่อ Winter Festival ในปลายปี ที่จะมีนักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น ในช่วงฤดูหนาว อีกทั้ง ต้องมีการโปรโมทหรือการประชาสัมพันธ์อย่างเต็มรูปแบบให้ดี และใส่กิจกรรมเพิ่มเติม ทำให้นักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ GDP เพิ่มขึ้น
“รัฐบาลตั้งเป้าหมายการท่องเที่ยวในภาพใหญ่ โดยต้องการเพิ่มจำนวน นักท่องเที่ยวจาก 36 ล้านคนในปีที่แล้ว เป็น 38 ล้านคน หรือถ้าจะให้ดีก็หวังให้จำนวน นักท่องเที่ยวทะลุ 40 ล้านคน ตลอดทั้งปี รวมถึง ความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวต้องมีมากขึ้น โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตำรวจท่องเที่ยว และ อาสาสมัครชาวต่างชาติ ที่เข้ามาช่วยดูแลนักท่องเที่ยวในประเทศไทย ซึ่งเป็นกำลังสำคัญ ในการทำให้การท่องเที่ยวไทยเป็นไปอย่างราบรื่นและปลอดภัย” นายกรัฐมนตรี ระบุ
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า รัฐบาลต้องการผลักดันศักยภาพของประเทศไทย ให้กลับไปสู่จุดเดิมก่อนที่เกิดวิกฤต โควิด-19 และพัฒนาให้มากขึ้นไป โดยการเพิ่มจำนวนและรายจ่ายของนักท่องเที่ยว ซึ่งรัฐบาลกำลังดำเนินการพัฒนา เพื่อให้รายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น การจัดงานอีเวนต์ที่จัดขึ้นได้สร้างกระแส สร้างความน่าสนใจให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมาเที่ยวประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลให้การสนับสนุน Soft Power อย่างเต็มที่ พร้อมผลักดันให้ทุกจังหวัดนำเสนอเอกลักษณ์และความพิเศษของตนเอง เพื่อเป็นแรงดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก โดยขอให้แต่ละจังหวัดจัดกิจกรรมที่โดดเด่นและพิเศษขึ้นในทุก ๆ ปี เพื่อสร้างเสน่ห์เฉพาะตัวและกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ
นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า คนไทย คือ Soft Power ที่สำคัญที่สุดของประเทศ ความน่ารัก ความมีไมตรี และความมีน้ำใจของคนไทย เป็นสิ่งที่สร้างความประทับใจให้กับชาวต่างชาติ เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางกลับมาเยือนประเทศไทย แม้ว่าบางคนจะไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษได้ แต่ก็ได้รับความช่วยเหลือและมิตรไมตรีจากคนไทยเสมอ ทั้งนี้ รัฐบาลมุ่งมั่นทำงานร่วมกับภาคเอกชนในการยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวไทยให้ดียิ่งขึ้น โดยขอความร่วมมือจากประชาชนในการเป็นเจ้าบ้านที่ดี สร้างความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางอันดับต้น ๆ ของโลก สำหรับเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ จะยิ่งใหญ่และพิเศษกว่าทุกปีที่ผ่านมา ด้วยกิจกรรมที่น่าสนใจมากขึ้น และมาตรการดูแลความปลอดภัยที่เข้มข้นขึ้น เพื่อให้ทั้งนักท่องเที่ยวและประชาชนได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุด ขอเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อไป
นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ในปี 2566 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับการประกาศจากองค์การยูเนสโกให้ประเพณีสงกรานต์ในประเทศไทย เป็นรายการตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ซึ่งถือเป็นเกียรติและความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของพวกเราชาวไทย ในปีนี้ กระทรวงวัฒนธรรมได้ร่วมบูรณาการกับ 28 หน่วยงานในการส่งเสริมประเพณีสงกรานต์ โดยจัดงาน "เย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์" ทั่วประเทศ ภายใต้แนวคิด "สงกรานต์บ้านฉัน สีสันแบบไทย สุขไกลทั่วโลก Once in a Lifetime : Experience Songkran in Thailand" เพื่อส่งเสริมประเพณีไทย นำเสนอความงดงามของวัฒนธรรมไทยและต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก มาร่วมสัมผัสประสบการณ์สงกรานต์ และร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลนี้อย่างยิ่งใหญ่ไปด้วยกัน
นางสาวสุดาวรรณ กล่าวอีกว่า กระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดงานสงกรานต์ในพื้นที่ 17 จังหวัด และ 4 จุด ในกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย 5 เมืองอัตลักษณ์ 12 เมืองน่าเที่ยว และ 4 จุดหมายหลักในกรุงเทพมหานคร โดยมุ่งเน้นการจัดงานตามอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ด้วยบรรยากาศแบบดั้งเดิมที่เชื่อมโยงอดีตกับปัจจุบัน พร้อมมาตรการดูแลด้านความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม รวมทั้งเป็นเจ้าบ้านที่ดี ให้ทุกคนได้รับประสบการณ์ที่น่าประทับใจ
นางสาวสุดาวรรณ กล่าวต่อว่า กระทรวงวัฒนธรรมพร้อมด้วย 28 หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ได้ร่วมกันกำหนด 17 มาตรการรณรงค์การจัดงานและการร่วมงานประเพณีสงกรานต์ ใน 4 มิติ เพื่อเป็นแนวทางในการจัดงานประเพณีสงกรานต์ พุทธศักราช 2568 ทั้งมิติวัฒนธรรม มิติเศรษฐกิจ มิติสังคม และมิติสิ่งแวดล้อม โดยกระทรวงวัฒนธรรม คาดหวังผลในการส่งเสริมประเพณีสงกรานต์ในปีนี้ ให้คนไทยทั่วโลกภาคภูมิใจและร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ พร้อมยกระดับประเพณีสงกรานต์สู่ World Event เป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวทั่วโลก สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้นจากปีที่ผ่านมา
สุดท้าย นางสาวสุดาวรรณ ฝากถึงพี่น้องประชาชนและนักท่องเที่ยวว่าประเพณีสงกรานต์เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของไทยที่มีความหมายมากกว่าการเล่นน้ำ แต่เป็นเทศกาลแห่งความรัก ความกตัญญู และความอบอุ่นของครอบครัว ซึ่งควรค่าแก่การส่งต่อไปสู่สายตาชาวโลก "สงกรานต์ไทยคือมรดกทางวัฒนธรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์และสืบทอดให้คนรุ่นหลัง เราต้องการให้สงกรานต์เป็นเทศกาลที่ทุกคนต้องมาเยือน อย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต"
นอกจากนี้ กระทรวงวัฒนธรรม ยังได้จัดทำบทเพลงสงกรานต์ 20 ภาษา สื่อสารไปทั่วโลก และขอความร่วมมือสถานทูตไทยในต่างประเทศช่วยเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และส่งเสริมประเพณีสงกรานต์ในต่างประเทศ เช่น เผยแพร่องค์ความรู้และร่วมจัดประเพณีสงกรานต์กับชุมชนไทยในต่างประเทศ ร่วมทำคลิปอวยพร ส่งความสุข ความปรารถนาดี และร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ของไทย ประเพณีสงกรานต์มีคุณค่าทั้งต่อครอบครัว ชุมชน และสังคม ช่วงเทศกาลสงกรานต์ยังเป็นช่วงวันครอบครัว ซึ่งตรงกับวันที่ ๑๔ เมษายน ของทุกปี ประกอบกับประเพณีสงกรานต์ มีคุณค่าต่อครอบครัว ทำให้เกิดความรักความผูกพันในครอบครัว เช่น สมาชิกในครอบครัวมาทำบุญร่วมกัน ลูกหลานมารดน้ำขอพรจากพ่อแม่ เพื่อเป็นสิริมงคลในการเริ่มต้นปีใหม่ จึงขอเชิญชวนชาวไทย และครอบครัวไทย ร่วมกันสืบสานประเพณีสงกรานต์ของไทยกันทั่วประเทศ