อ. นิด้า ตีความผลโพล ศึกเลือกตั้งครั้งที่ 2 ชี้ ความนิยม อุ๊งอิ๊ง ยังนำแต่ พิธาและพรรคก้าวไกล ขยับขึ้นตามติดจากแนวคิดในการหาเสียง
วานนี้(16เม.ย.66) เพจเฟซบุ๊กของรองศาสตราจารย์ พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองคณบดีฝ่ายวิชาการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) ได้โพสต์ข้อความวิเคราะห์ ผลการสำรวจความคิดเห็นศึกเลือกตั้งครั้งที่ 2 โดยมีข้อความ ดังนี้
ตีความผลโพลศึกเลือกตั้งครั้งที่ 2
มีผู้นำการเมืองสามคนที่คะแนนนิยมเพิ่มขึ้น ที่เหลือมีแนวโน้มลดลง บุคคลที่คะแนนนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญคือนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และมีสามพรรคที่คะแนนนิยมเพิ่มขึ้น ที่เหลือมีทิศทางลดลง พรรคที่มีคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นอย่างนัยสำคัญคือ พรรคก้าวไกล
ก่อนวันรับสมัครเลือกตั้ง นิด้าโพลสำรวจความนิยมนักการเมืองและพรรคการเมืองรอบแรกเมื่อกลางเดือนมีนาคม 2566 ถัดมาหลังสมัครรับเลือกตั้ง ก็ได้สำรวจครั้งที่สองในช่วงต้นเดือนเมษายน พบข้อมูลที่น่าสนใจคือ
1 ในการสำรวจครั้งที่สองแม้นางสาวแพทองธาร ชินวัตร จะได้รับความนิยมมากเป็นลำดับหนึ่ง แต่คะแนนนิยมของเธอกลับลดลงประมาณ 2.5% เป็นครั้งแรกในรอบหลายเดือนนับตั้งแต่เธอลงสนามการเมืองที่คะแนนนนิยมมีทิศทางลดลง ซึ่งอธิบายได้ 2 แง่มุม
อย่างแรกคือ การปรากฏตัวของนายเศรษฐา ทวีสิน ในฐานะผู้สมัครตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในพรรคเดียวกันมีผลกระทบต่อคะแนนนิยมของเธอ โดยผู้เลือกตั้งที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยจำนวนหนึ่ง ที่เคยสนับสนุนคุณแพทองธาร หันมาสนับสนุน คุณเศรษฐา แทน
อย่างที่สอง ได้รับผลกระทบจากแนวโน้มโดยรวมของกระแสความนิยมพรรคเพื่อไทย ที่เริ่มมีทิศทางลดลง
2 เป็นครั้งแรกในรอบปีเศษ ที่ความนิยมของพรรคเพื่อไทยลดลง นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 ปีกว่าที่ผ่านมาที่นิด้าโพลสำรวจความนิยมทางการเมือง คะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ในการสำรวจครั้งนี้ช่วงต้นเดือนเมษายน 2566 คะแนนนิยมพรรคเพื่อไทยกลับลดลง
เมื่อเทียบกับการสำรวจในเดือนมีนาคม 2566 ในกรณี ส.ส. แบบแบ่งเขต ความนิยมของพรรคเพื่อไทย จาก 49.75 % เหลือ 47.20 % หรือลดลง 2.55 % และกรณี ส.ส. บัญชีรายชื่อ ลดลงจาก 49.85 % เหลือ 47.00 % หรือลดลง 2.85 %
คะแนนการลดลงของการเลือก ส.ส. ทั้งสองแบบ สอดคล้องกับคะแนนนิยมที่ลดลงของคุณแพทองธาร และสัดส่วนการลดก็ใกล้เคียงกัน ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า คะแนนนิยมพรรคที่ลดลงส่งผลต่อการลดลงของคะแนนนิยมในตัวคุณแพทองธารด้วย
3 รายชื่อของคุณเศรษฐา เริ่มปรากฏใน 10 บุคคลแรกที่ประชาชนสนับสนุนเป็นนายกรัฐมนตรี โดยได้ลำดับที่สี่ ต่อจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ก็ยังห่างลำดับหนึ่งและสองอยู่มากทีเดียว
4 คะแนนนิยมของพรรคก้าวไกลยังคงมีทิศทางเพิ่มขึ้น และเพิ่มในอัตราที่ค่อนข้างสูง
ในส่วนหัวหน้าพรรค คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มีคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นจาก 15.75 % เป็น 20.25 % หรือเพิ่ม 4.5 % ซึ่งเป็นการเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ
สอดคล้องกับคะแนนนิยมการเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขต ที่เพิ่มขึ้นจาก 17.40 % เป็น 21.20 % หรือเพิ่มขึ้น 3.8 % และคะแนนนิยม ส.ส. บัญชีรายชื่อเพิ่มขึ้น จาก 17.15 % เป็น 21.85 % หรือเพิ่มถึง4.7 %
สาเหตุหลักที่คะแนนนิยมของพรรคก้าวไกลเพิ่มขึ้น เพราะผู้สมัครพรรคนี้ทั้ง ส.ส. แบ่งเขต และส.ส.บัญชีรายชื่อ แสดงความสามารถในการคิดและการพูดที่โดดเด่นในการหาเสียงและในเวทีดีเบตผ่านสื่อมวลชน จนได้รับการยอมรับจากประชาชนมากขึ้น
5 คะแนนนิยมของพรรครวมไทยสร้างชาติมีทิศทางลดลง ทั้งตัวผู้นำพรรคอย่างพลเอกประยุทธ์ และส.ส.แบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ คะแนนนิยมพลเอกประยุทธ์ลดลงจาก 15.65% เหลือ 13.60 หรือลดลง 2.05 % ส.ส.แบบแบ่งเขตลดลงจากร้อยละ 11.75% เหลือ 10.80 % หรือลดลง 0.90 % ส่วนคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อลดลงจาก12.15 % เหลือ 11.40 % หรือลดลงร้อยละ 0.75 %
6 พรรคอื่น ๆ คะแนนนิยมก็มีทิศทางที่ลดลงแม้จะลดไม่มากก็ตาม เช่น พรรคประชาธิปัตย์ เสรีรวมไทยไทยสร้างไทย พลังประชารัฐ ขณะที่พรรคภูมิใจไทยมีทิศทางเพิ่มขึ้น แม้จะยังไม่สูงเท่ากับช่วงก่อนหน้าที่ต้องเผชิญกับกระแสวิจารณ์เรื่องผลกระทบจากนโยบายกัญชา สิ่งที่น่าสังเกตคือ สัดส่วนการเพิ่มคะแนนนิยมของพรรคภูมิใจไทยในระดับ ส.ส. แบบแบ่งเขต สูงกว่า ส.ส. แบบบัญชีรายชื่ออย่างเห็นได้ชัด มีความเป็นไปได้สูงว่า พรรคภูมิใจไทยเริ่มขับเคลื่อนจักรกลทางการเมืองในระดับเขตเลือกตั้งเข้มข้นมากขึ้น และดูเหมือนจะสามารถต้านแรงกระแทกจากกระแสวิจารณ์ของนายชูวิทย์ระดับหนึ่ง เช่นเดียวกันพรรคชาติพัฒนากล้าก็มีคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากที่ไม่อยู่ในสิบลำดับแรก ก็เริ่มปรากฏขึ้นมาในลำดับสิบ