สวัสดีค่ะทุกคน “การอ่านตัวเลข” ต่าง ๆ ในภาษาไทยมีหลักการมากมาย วันนี้น้องบัวบานมีสาระภาษาไทยน่ารู้เกี่ยวกับ “การอ่านบ้านเลขที่” มาฝากค่ะ จะมีหลักการอย่างไรบ้าง ไปดูกันเลย
หลักการอ่าน “บ้านเลขที่” มีหลักการง่าย ๆ ดังนี้
1. บ้านเลขที่ที่ไม่มีเครื่องหมายทับ ( / )
- บ้านเลขที่ซึ่งมีตัวเลข 2 หลัก ให้อ่านแบบจำนวนนับ
เช่น บ้านเลขที่ 10 อ่านว่า บ้าน-เลก-ที่-สิบ
- บ้านเลขที่ที่มีตัวเลข 3 หลักขึ้นไป อ่านแบบเรียงตัวหรือจำนวนนับก็ได้
เช่น บ้านเลขที่ 666 อ่านว่า บ้าน-เลก-ที่-หก-หก-หก หรือ บ้าน-เลก-ที่-หก-ร้อย-หก-สิบ-หก
2. บ้านเลขที่ที่มีเครื่องหมายทับ ( / )
ตัวหน้าอ่านเหมือนบ้านเลขที่ที่ไม่มีเครื่องหมายทับ ส่วนตัวเลขหลังเครื่องหมายทับ / ให้อ่านแบบเรียงตัว
เช่น บ้านเลขที่ 70/10 อ่านว่า บ้าน-เลก-ที่-เจ็ด-สิบ-ทับ-หนึ่ง-สูน
บ้านเลขที่ 987/99 อ่านว่า บ้าน-เลก-ที่-เก้า-แปด-เจ็ด-ทับ-เก้า-เก้า
หรือ บ้าน-เลก-ที่-เก้า-ร้อย-แปด-สิบ-เจ็ด-ทับ-เก้า-เก้า
3. กลุ่มตัวเลขที่มี 0 นำหน้า ให้อ่านเรียงตัวเสมอ
เช่น บ้านเลขที่ 0864/1108 อ่านว่า บ้าน-เลก-ที่-สูน-แปด-หก-สี่-ทับ-หนึ่ง-หนึ่ง-สูน-แปด
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
การอ่านตัวเลขในภาษาไทยนั้นมี 2 แบบ คือ การอ่านแบบเรียงตัว และการอ่านแบบจำนวนนับ
1. การอ่านแบบเรียงตัว คือ การอ่านตัวเลขเรียงกันไป มักเป็นกลุ่มตัวเลขที่กำหนดขึ้นเพื่อจุดประสงค์ใดจุดประสงค์หนึ่ง เช่น อ่านหมายเลขโทรศัพท์ รหัสไปรษณีย์ หมายเลขห้อง
2. การอ่านแบบจำนวนนับ คือ การอ่านตัวเลขเพื่อนับจำนวน เช่น จำนวนเงิน ศักราช
แล้วพบกันใหม่กับน้องบัวบานและบทความคำไทยรู้ไว้ใช้ถูกต้องนะคะ ขอฝากอ่านบทความอื่น ๆ ของน้องบัวบานไว้ด้วยนะคะ : bit.ly/khamthai_BB
ขอบคุณข้อมูลจาก
- อ่านอย่างไรและเขียนอย่างไร ฉบับราชบัณฑิตยสภา (พิมพ์ครั้งที่ 23)
ป.ล. ก่อนจากกัน น้องบัวบานมีเว็บไซต์ดี ๆ มาฝากพี่ ๆ ทุกคนด้วยนะคะ
❤️คำทับศัพท์ใช้แบบไหน? เช็กได้ที่ระบบฐานข้อมูลคำทับศัพท์ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา https://transliteration.orst.go.th/search
❤️คำนี้เขียนถูกไหม? เช็กได้ที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 (ออนไลน์) https://dictionary.orst.go.th/