18 มี.ค.68 - ชวนคนไทย! คืนบ้านให้ “ปูเสฉวน” ร่วมบริจาค “เปลือกหอยฝาเดียว” มอบให้อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา
ปูตัวเล็ก กับเปลือกหอยที่ดูจะใหญ่กว่าตัว หรือเรียกกันว่า “ปูเสฉวน” เดินไปมาตามชายหาดชายทะเล เป็นภาพคุ้นชินหากย้อนไป 20-30 ปีก่อน แต่ใครจะคิดว่าปัจจุบันปูน้อยเหล่านี้ประสบปัญหาไร้บ้านมานานหลายสิบปี เพราะเปลือกหอยฝาเดียวที่ “ปูเสฉวน” ใช้เป็นบ้านประจำตัว ลดจำนวนลงอย่างมาก ส่วนใหญ่เพราะการเก็บไปของมนุษย์
•
จนบางครั้งเราเคยเห็นปูเสฉวนบางตัว ต้องใช้เศษขยะมาทำเป็นที่อาศัยแทน แต่บางตัวก็ไม่โชคดีขนาดนั้น
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน หนึ่งในพื้นที่ธรรมชาติทางทะเล ที่มีปูเสฉวนอยู่เป็นจำนวนมาก และที่นี่ก็พบว่า “ปูเสฉวน” บางตัวไม่มีบ้านหรือเปลือกหอย ทำให้ต้องหาขยะจากทะเลมาทำเป็นที่อยู่อาศัย อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จึงปิ๊งไอเดีย! เปิดรับบริจาคเปลือกหอยฝาเดียวให้ปูเสฉวน เพื่อเป็นการเพิ่มบ้านให้แก่ปูเสฉวน ผ่านโครงการคืนบ้านให้ปูเสฉวน ซึ่งนับเป็นโครงการดีๆ ที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันทำมาอย่างต่อเนื่อง
โดยรับบริจาคเปลือกหอยเฉพาะเปลือกหอยฝาเดียว (ขนาดใหญ่) ได้ทุกชนิดทั้งหอยน้ำจืด หอยทะเล และได้ทุกขนาด โดยเฉพาะเปลือกหอยเหลือทิ้งที่มาจากการบริโภค ยิ่งได้ประโยชน์ 2 เด้ง ทั้งอิ่มท้อง และได้บ้านส่งต่อให้ปูเสฉวนด้วย
“แต่เน้นย้ำว่า ไม่สนับสนุนการเก็บเปลือกหอยจากชายหาด เพื่อนำมาบริจาค เนื่องจากไม่อยากให้เก็บเปลือกหอยจากหาดหนึ่ง มาบริจาคให้อีกหาดหนึ่ง ซึ่งจะทำให้พื้นที่เหล่านั้นเสียสมดุลทางธรรมชาติ”
ล่าสุด เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ได้เปิดกล่องไปรษณีย์ที่มีผู้บริจาคเปลือกหอยเข้ามาจำนวนกว่า 3,000 ชิ้น และได้นำเปลือกหอยไปวางตามจุดต่างๆ ในเขตอุทยานฯ ได้แก่ เกาะเมียง เกาะสิมิลัน และเกาะตาชัย เพื่อช่วยคืนบ้านให้ปูเสฉวน เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ทรัพยากรทางทะเล
📌ผู้ที่สนใจสามารถบริจาคเปลือกหอยฝาเดียว ได้ที่ : ที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน 93 ม.5 ต.ลำแก่น อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา 82210 หมายเลขโทรศัพท์ 076-453-272 , 076-453-275
📍ทำไม “ปูเสฉวน” ต้องใช้เปลือกหอย
“ปูเสฉวน” มีลักษณะก้ำกึ่งระหว่างปูและกุ้ง ขนาดโตเต็มที่ประมาณ 5 นิ้ว มีขาทั้งหมด 10 ขาเช่นเดียวกับปูทะเล ”และด้วยส่วนท้ายลำตัวมีลักษณะอ่อนนุ่มทำให้ต้องอาศัยอยู่ในเปลือกหอยเพื่อป้องกันตัวและให้ความชุ่มชื้นแก่ร่างกาย” ลำตัวส่วนหน้าของปูเสฉวนบกปกคลุมด้วยเปลือกไคตินที่แข็งเหมือนปูทั่วไป ส่วนท้องมีลักษณะที่ยาวและนุ่มกว่า ทำให้สามารถปรับช่วงท้องให้เข้ากับเปลือกหอยที่เป็นเกลียวได้ โดยใช้ขาคู่ที่สี่และห้ายึดเกาะกับผนังด้านในของเปลือกหอยไม่ให้หลุด โดยการเกร็งกล้ามเนื้อตามโครงสร้างของหอย ส่วนก้ามขนาดใหญ่ใช้ในการป้องกันตัว จับปีนต้นไม้และทรงตัว และยังใช้เป็นฝาปิดเปลือกหอย ส่วนก้ามที่เล็กกว่าใช้หยิบส่งอาหารและน้ำเข้าปาก
ปูเสฉวนบก ไม่สามารถที่จะอาศัยอยู่ในน้ำเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากระบบการหายใจถูกพัฒนาให้รับออกซิเจนโดยตรง ถ้าลงไปในน้ำจะจมน้ำตายได้ แต่จะต้องลงไปกินน้ำทะเลเพื่อรับแคลเซียมและเกลือแร่ให้กับร่างกาย และต้องการน้ำจืดเพื่อการอยู่รอดอีกด้วย โดยปูเสฉวนกินซากพืช ซากสัตว์เป็นอาหารจึงเป็นเหมือนเทศบาลประจำชายหาดก็ว่าได้
•
ปูเสฉวนบกมีเหงือกที่ชื้นสำหรับหายใจ โดยช่องเหงือกมีหลอดเลือดที่พัฒนาสำหรับแลกเปลี่ยนก๊าซได้โดยตรงกับอากาศ โดยต้องมีความชื้นในอากาศ 70% ซึ่งทำให้ปูเสฉวนบกต้องอาศัยเปลือกหอยในการเก็บกักความชื้นไว้ หากปูเสฉวนบกอยู่นอกเปลือกหอยเกิน 24 ชั่วโมงก็จะตายได้
•
หนวด 2 คู่ไวต่อการรับสัมผัส คู่ที่ยาวกว่าใช้รับความรู้สึก และคู่ที่สั้นกว่าใช้ในการดมกลิ่นและชิมอาหาร ขนที่ปกคลุมภายนอกก็ใช้รับความรู้สึกเช่นกัน เส้นขนและหนวดเหล่านี้ยังเป็นเซ็นเซอร์ตรวจจับการสั่นสะเทือนอีกด้วย
•
การเจริญเติบโตของปูเสฉวนบกใช้วิธีการลอกคราบ เพื่อขยายโครงสร้างและร่างกายให้ใหญ่ขึ้น โดยขณะลอกคราบจะสร้างแรงดันน้ำในร่างกายให้มากพอที่จะแยกคราบเก่าออก ปูบางตัวทิ้งเปลือกและฝังตัวเองในทราย บางตัวกักเก็บน้ำไว้ในเปลือกก่อนลอกคราบและยังคงอยู่ในเปลือกตลอดการลอกคราบซึ่งอาจใช้เวลา 45-120 วัน สังเกตได้ว่าปูที่เพิ่งลอกคราบใหม่ๆ ลำตัวจะมีสีฟ้าใสสะอาด ซึ่งอาจเกิดจากการกินคราบเก่าของตัวเองเพื่อให้ร่างกายได้รับแคลเซียม วิตามิน และแร่ธาตุ
•
ปูเสฉวนหลังจากไข่ฟักออกมา ตัวอ่อนปูเสฉวนบกจะลอยเป็นแพลงก์ตอน และผ่านการลอกคราบหลายครั้ง พัฒนาร่างกายจนขึ้นสู่ฝั่ง หาเปลือกหอยที่พอดีตัว และจะใช้ชีวิตบนบกโดยไม่สามารถลงไปอยู่ในน้ำได้อีก ซึ่งปูเสฉวนบกมีอายุยืนมาก กว่า 60 ปี
•
ปูเสฉวนต้องการเปลือกหอยเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย และใช้ป้องกันภัย ถึงแม้ว่าปูเสฉวนจะมีกระดองแข็งหุ้มตัวอยู่แต่มีส่วนท้องที่อ่อนนุ่ม ซึ่งหากปูเสฉวนบกอยู่นอกเปลือกหอยจะตายลงภายใน 24 ชั่วโมง ปูเสฉวนบกจะเจริญเติบโตด้วยการลอกคราบ แต่ละครั้งปูเสฉวนบกจะต้องเปลี่ยนเปลือกหอยให้ใหญ่ตามขนาดของร่างกาย
•
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง บอกอีกว่า มีความพยายามของภาครัฐในการอนุรักษ์ปูเสฉวน โดยการแต่งตั้งคณะกรรมการอนุรักษ์ปูเสฉวน ตามคำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ 12/2542 ลงวันที่ 7 มกราคม 2542 ให้มีหน้าที่กำหนดแนวทางจัดทำแผนและดำเนินการอนุรักษ์ปูเสฉวน รวมทั้งศึกษาสำรวจแหล่งที่อยู่อาศัย จำนวน การแพร่กระจาย และข้อมูลทางวิชาการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับปูเสฉวน รวมทั้งแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน และนักท่องเที่ยวให้ความร่วมมือและมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ปูเสฉวน
•
ในปี 2563 แฟนเพจของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา จ.กระบี่ ได้โพสรับบริจาคเปลือกหอยเพื่อคืนบ้านให้กับปูเสฉวน ในโครงการ “คืนบ้านให้ปูเสฉวน” หลังมีนักท่องเที่ยวถ่ายภาพปูเสฉวนบกขนาดใหญ่ตัวหนึ่งใช้เศษขวดแก้วเครื่องดื่มชูกำลังในสภาพแตกเป็นปากฉลามอาศัยแทนเปลือกหอย
•
ปูเสฉวน จึงมีความสำคัญต่อระบบนิเวศในธรรมชาติเป็นอย่างมาก การที่ปูเสฉวนหายไป หรือสูญพันธุ์ จะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหาร เพราะปูเสฉวนทำหน้าที่เป็นผู้กำจัดซากเน่าเปื่อย แบคทีเรีย และเชื้อโรคตามชายหาด
•
ขอบคุณที่มา :
📍อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน - Mu Ko Similan National park
📍กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง