นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประธานในงาน กล่าวว่า สำหรับคนไทยแล้ว Digital ID หรือการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลไม่ใช่เรื่องใหม่อีกต่อไป เพราะทุกกิจกรรมการทำธุรกรรมออนไลน์ในชีวิตประจำวัน มีกระบวนการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะในโลกดิจิทัล Digital ID ถือเป็น IDหรือ Identity ของเรา ที่จะช่วยบอกได้ว่า “เราเป็นใคร” ไม่ต่างจากการมี “บัตรประจำตัวประชาชน” บนโลกออฟไลน์ ดังนั้นDigital ID เป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะทำให้เจ้าของ ID ผู้ใช้งาน สามารถเข้าถึงและเข้ารับบริการดิจิทัลต่างๆ จากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้อย่างสะดวกทุกที่ทุกเวลา ปลอดภัยน่าเชื่อถือ โดยไม่ถูกปลอมแปลง ยกระดับการให้บริการทั้งของภาคเอกชนและภาครัฐ ให้มีความคล่องตัว ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดความแออัด ลดค่าใช้จ่ายในการให้บริการในระยะยาว เป็นต้น ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการเร่งขับเคลื่อนให้ประเทศเกิดการพัฒนาและใช้งาน Digital ID มาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น การมอบหมายให้กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย โดยมีกระทรวงดิจิทัลฯ เป็นที่ปรึกษา เร่งพัฒนาระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยใบหน้าทางดิจิทัล หรือ Face Verification Service (FVS) เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนสามารถลงทะเบียนหรือพิสูจน์ตัวตนด้วยภาพใบหน้าได้ โดยไม่ต้องเดินทางไปที่จุดบริการต่างๆ เช่น การลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันกระเป๋าตัง ที่อยู่ที่ไหนก็สามารถสมัครใช้บริการได้ ซึ่งระบบ FVS จะช่วยให้การเปรียบเทียบภาพใบหน้าชัดและแม่นยำขึ้น นอกจากนี้ ยังเร่งให้เกิดจัดทำกฎหมายมาตรฐาน ตลอดจนหลักเกณฑ์การดูแลผู้ให้บริการการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ที่จะบัญญัติไว้ใน (ร่าง) พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการเกี่ยวกับระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลที่ต้องได้รับใบอนุญาต พ.ศ. .... ล่าสุดนายกรัฐมนตรีนำร่าง พ.ร.ฎ.ขึ้นทูลเกล้าฯ แล้ว รวมไปถึงการจัดทำมาตรฐานทางด้านเทคนิคหรือแนวทางการพัฒนาและใช้งานระบบ Digital ID ของประเทศ เพื่อให้การใช้งานมีมาตรฐานระดับสากล และเพื่อส่งเสริมให้เกิดการบูรณาการและผสานความร่วมมือในการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน
กระทรวงดิจิทัลฯ จึงได้ร่วมมือกับกระทรวง กรม รวมถึงหน่วยงานราชการและองค์กรภาคเอกชนหลายหน่วยงาน จัดทำ“กรอบการขับเคลื่อนการให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลประเทศไทย ระยะที่ 1 พ.ศ. 2565 - พ.ศ. 2567” หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า “Digital ID Framework” ขึ้น เพื่อเป็นกรอบแนวทางของประเทศในการบูรณการความร่วมมือและการขับเคลื่อนงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ภายใต้แผนปฏิบัติการที่จะช่วยเร่งผลักดันให้การดำเนินงานบรรลุผลสำเร็จสอดคล้องกับสถานการณ์ความต้องการใช้งานของประชาชน ภาคธุรกิจและภาครัฐ ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2565 ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ Digital ID Framework พร้อมจัดทำโครงการและดำเนินงานให้เป็นไปตามกรอบที่กำหนดแล้ว งานแถลงข่าว “Digital ID framework เปิดกลยุทธ์เดินหน้า...ดิจิทัลไอดีไทย” จึงเป็นโอกาสดีที่หน่วยงานที่อยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อน Digital ID ภายใต้ framework นี้ ได้แก่กรมการปกครอง, กรมสรรพากร, สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน), สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, สำนักงาน กสทช., บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด และ ETDA จะได้มาร่วมพูดคุยเล่าให้เราฟังว่า แต่หน่วยงานมีบทบาท ทิศทาง นโยบายในการเดินหน้าส่งเสริมให้คนไทยเกิดการใช้งาน Digital ID ในวงกว้างได้อย่างไรบ้าง เพื่อให้เราทุกคนเห็นภาพอนาคตดิจิทัลไอดีไปพร้อมๆ กัน
“เป้าหมาย ของ Digital ID framework คือ การผลักดันให้บริการ Digital ID ไปถึงมือประชาชน สามารถเข้าถึงบริการออนไลน์ของภาครัฐและเอกชนได้ โดยไม่ต้องลงทะเบียนซ้ำซ้อน มีบริการที่ประชาชนเข้าใช้งานด้วย Digital ID ได้จริงปัจจุบันช่องทางการยืนยันตัวตนด้วยดิจิทัลมี 3 ช่องทาง คือ NDID โดยสถาบันการเงิน ใช้ในการทำธุรกรรมทางการเงิน ช่องทางยืนยันตัวตนของสำนักงาน กสทช. ใช้สำหรับรับบริการสื่อสารโทรคมนาคม และดิจิทัลไอดีโดยกระทรวงมหาดไทย โดยมีผู้มีดิจิทัลไอดีรวมกันทั้งสามช่องทางหลักแสนคน รัฐบาลตั้งเป้าจะเพิ่มดิจิทัลไอดีให้ครบ 10 ล้านรายในปี 2566 ”