สวัสดีค่ะทุกคน หลังจากที่มีการรับสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกันแล้ว หลาย ๆ คนคงได้ยินกันว่า “ห้าม” หาเสียงด้วยการจัดมหรสพ หรืองานรื่นเริง น้องบัวบานเลยขอนำเอาความหมายของคำว่า “มหรสพ” มาฝากทุกคนกันค่ะ
คำว่า “มหรสพ” ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 อ่านว่า มะหอระสบ เป็นคำนาม มีความหมายว่า การเล่นรื่นเริง มีโขนละคร เป็นต้น ภาษาบาลีเขียน มหุสฺสว ภาษาสันสกฤต เขียน มโหตฺสว
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย : รู้หรือไม่? ข้อควรระวังที่ห้ามทำระหว่างการหาเสียงมีการ “ห้ามจัดมหรสพหรืองานรื่นเริงต่าง ๆ”
ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 73 ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น ให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร หรือการชักชวนให้ไปลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ด้วยวิธีการทำการโฆษณาหาเสียงด้วยการจัดให้มีมหรสพหรืองานรื่นเริงต่าง ๆ
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เผยแพร่ข้อมูลเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา แจ้งแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดขบวนแห่ โดยผู้สมัครรับเลือกตั้ง พรรคการเมือง และบุคคลที่เกี่ยวข้องในการจัดขบวนแห่หรือกองเชียร์ที่แสดงการสนับสนุนเพื่อให้กำลังใจแก่ผู้รับสมัครเลือกตั้งและพรรคการเมือง เมื่อกระบวนการสมัครเสร็จสิ้นลงแล้ว มิควรมีการจัดขบวนหรือกองเชียร์ออกจากสถานที่รับสมัครไปตามถนน ตำบล หรือหมู่บ้านในลักษณะนี้อีก
ขอบคุณข้อมูลจาก
- สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
- พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 73 (3)
- พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554
บทความอื่น ๆ ของน้องบัวบาน
- คำไทยรู้ไว้ ใช้ถูกต้อง : bit.ly/khamthai_BB
ป.ล. ก่อนจากกัน น้องบัวบานมีเว็บไซต์ดี ๆ มาฝากพี่ ๆ ทุกคนด้วยนะคะ
❤️คำทับศัพท์ใช้แบบไหน? เช็กได้ที่ระบบฐานข้อมูลคำทับศัพท์ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา https://transliteration.orst.go.th/search
❤️คำนี้เขียนถูกไหม? เช็กได้ที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 (ออนไลน์) https://dictionary.orst.go.th/