14 ธ.ค.65 - อิมเมจิน ไทยแลนด์ฯ ร่วมกับ สสส. ปลุกพลังผู้นำชุมชนและเยาวชน น่าน-กระบี่ เปิดเวทีแชร์ไอเดียขับเคลื่อนสังคมสร้างต้นแบบพื้นที่สุขภาวะ อีกหนึ่งความก้าวหน้าการขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะ
Imagine Thailand Movement จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้นำชุมชนและเยาวชน จ.น่าน และจ.กระบี่ ภายใต้โครงการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเวทีให้เด็กและผู้ใหญ่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ แชร์ประสบการณ์การขับเคลื่อนสังคม เพื่อพัฒนาชุมชนตนเองสู่ต้นแบบพื้นที่ สุขภาวะ ณ ชุมชนบ้านท่ามะพร้าว ต.คลองพน อ.คลองท่อม จ.กระบี่
ดร.อุดม หงส์ชาติกุล ผู้ก่อตั้งห้องปฏิบัติการทางสังคม (ประเทศไทย) และ Imagine Thailand Movement กล่าวว่าชุมชนตำบลเจดีย์ชัย อ.ปัว จ.น่าน และ ชุมชนบ้านท่ามะพร้าว ต.คลองพน อ.คลองท่อม จ.กระบี่ เป็นพื้นที่เป้าหมายการขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะ ซึ่งมีบริบทที่แตกต่างกัน แต่จุดหมายเดียวกัน คือ ต้องการพัฒนาชุมชนตนเองให้เป็นพื้นที่สุขภาวะสำหรับทุกคน
ซึ่งการจัดกิจกรรมครั้งนี้ต้องการให้ผู้นำชุมชน และเยาวชนทั้งสองพื้นที่ได้มีโอกาสเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ได้เห็นมุมมองที่แตกต่าง เราจะเห็นโอกาสอะไรใหม่ ๆ เพราะประสบการณ์เหล่านี้จะสะสมให้พวกเขาลุกขึ้นมาเป็นผู้นำ ทำอะไรบางอย่างเพื่อชุมชนของพวกเขาเอง
•
สำหรับ“ชุมชนบ้านท่ามะพร้าว” เป็นชุมชนมุสลิม ทำอาชีพประมง มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน มีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง มีการสร้างเยาวชนอาสาส่งต่อรุ่นสู่รุ่นเป็นแกนนำร่วมพัฒนาหมู่บ้าน ในอดีตชุมชนแห่งนี้ มีป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ แต่เมื่อ 20 ปีก่อนป่าถูกทำลายอย่างนัก จนสัตว์น้ำหายไปพร้อมกับผู้คนในชุมชนที่ต้องย้ายถิ่นไปทำมาหากินนอกพื้นที่
•
แต่ด้วยความเข้มแข็งของผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา โรงเรียน ชาวบ้านองค์กรท้องถิ่นต่างๆ และแรงหนุนจากสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (PDA) พร้อมใจกันลุกขึ้นมาทวงคืนทรัพยากรล้ำค่า ช่วยกันปลูก ช่วยกันดูแล อนุรักษ์ จนวันนี้ผืนป่ากลับมาสมบูรณ์ ชาวบ้านมีรอยยิ้ม มีงานทำ มีรายได้ และมีอาหารดีๆ นับเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของชุมชนแห่งนี้
โดยตลอดทั้ง 2 วัน ผู้นำชุมชนและเยาวชน ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ผ่านกระบวนการต่าง ๆ และได้ร่วมกิจกรรมปล่อยปู คืนสู่ทะเล เพื่อเป็นการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ และลงไปในชุมชน เยี่ยมชมวิถีชีวิตชาวประมง ทำให้ได้เห็น ได้ลองสัมผัส กุ้ง หอย ปู ปลา ตัวเป็นๆ สร้างความตื่นเต้นให้กับน้อง ๆ เยาวชน จากน่าน เป็นอย่างมาก เพราะหลายคนไม่เคยเห็นของจริง
เวทีนี้ ยังเปิดโอกาสให้เยาวชนได้นำเสนอแนวคิดในการพัฒนาหมู่บ้านของตนเอง ซึ่งทั้ง 2 พื้นที่ มีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ ต้องการแก้ไขปัญหา ยาเสพติด เหล้า บุหรี่ อบายมุข และปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ให้หมดไปจากหมู่บ้าน เพราะพวกเขาอยากให้ชุมชนเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน นั่นเอง
น้อง “มาเฟีย” หรือ ด.ญ.ศุภดารัตน์ อรุณวัฒนานันท์ นักเรียนชั้นม.1 โรงเรียนบ้านปงสนุก จ.น่าน บอกว่า ตื่นเต้นที่ได้เห็นอาหารทะเลตัวเป็นๆ ได้เห็นวิถีชีวิตชาวประมง และรู้ว่าป่าชายเลนมีความสำคัญกับชุมชนแห่งนี้มาก เพราะเป็นที่อยู่ของสัตว์น้ำ แหล่งอาหารของชุมชน ซึ่งการมากระบี่ครั้งนี้ได้ประสบการณ์ที่คุ้มค่ามาก ๆ
นายฤทธิเดช ยะแสง กำนันตำบลเจดีย์ชัย หนึ่งในผู้นำคนสำคัญ กล่าวว่า การมาร่วมกิจกรรมครั้งนี้สร้างประสบการณ์ที่มีค่าให้กับผู้นำชุมชน และเยาวชน ตำบลเจดีย์ชัย เป็นอย่างมาก เป็นการเปิดโลกเรียนรู้ให้กับเด็ก หลายคนไม่ค่อยมีโอกาสดี ๆ แบบนี้ ทริปนี้เป็นครั้งแรกของพวกเขาที่ได้ออกมาเรียนรู้ มาเก็บเกี่ยวประสบการณ์นอกห้องเรียนไกลถึงจ.กระบี่ เชื่อว่าสิ่งที่ทุกคนได้ติดตัวกลับไปจากกิจกรรมนี้ จะประโยชน์สำหรับการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะของชุมชนตำบลเจดีย์อย่างแน่นอน
ลุงทวี คำเผือก และลุงเฉม ลูกบัว ปราชญ์ชาวบ้านและผู้นำชุมชนบ้านท่ามะพร้าว กล่าวว่า ดีใจที่ได้เห็นภาพผู้นำชุมชนและเยาวชน ทั้ง 2 พื้นที่ได้มารู้จัก มาแลกเปลี่ยนกัน โดยเฉพาะเยาวชน ถือเป็นทรัพยากรสำคัญของชุมชน ที่จะก้าวมาเป็นผู้นำในอนาคต จำเป็นต้องเรียนรู้ สั่งสมประสบการณ์ ทำให้เห็นโอกาสใหม่ๆ และเกิดแรงบันดาลใจ ผลักดันให้พวกเขาลุกขึ้นมาเป็นแกนนำอาสาร่วมพัฒนาหมู่บ้าน ให้น่าอยู่ ให้ปลอดภัยจากปัจจัยเสี่ยง
•
“กระบวนการ Social Lab มีเป้าหมายที่จะสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ทางสังคม ซึ่งเป็นพื้นที่เรียนรู้ที่ปลอดภัยสำหรับ ทุกคนและเราคงไม่สามารถขับเคลื่อนงานลักษณะแบบนี้ได้ สสส. ให้การสนับสนุนการขับเคลื่อน เพื่อที่จะสร้างสังคมสุขภาวะให้ได้เกิดขึ้นจริง