จากกรณีข่าว “ลัทธิประหลาด” อวดอ้างตนเป็นเจ้าสำนัก เจ้าลัทธิ ตั้งตนเป็นพระบิดา อ้างว่ามีวิชาความรู้สามารถช่วยรักษาอาการของโรคต่าง ๆ ได้ จนมีสาวกหลงเชื่อจำนวนมากนั้น วันนี้ Backbone MCOT ขอพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับ “โรคจิตหลงผิด” การมีความเชื่อ หรือความคิดไม่ตรงกับความเป็นจริง
อ่าน : ลัทธิแปลก สุดเพี้ยน! พระบิดาแห่งจักรวาล? / ยิ่งกว่าพระบิดาก็มีมาแล้ว
โรคจิตหลงผิด หรืออาการหลงผิด คืออะไร?
อาการหลงผิด (delusion) คือ การมีความเชื่อ หรือความคิดไม่ตรงกับความเป็นจริง ตั้งแต่ 1 เรื่องนาน 1 เดือนขึ้นไป อาการหลงผิดที่พบบ่อยที่สุดคือ ระแวงว่าถูกกลั่นแกล้ง ถูกปองร้าย ส่วนใหญ่ไม่พบว่ามีประสาทหลอน เช่น หูแว่ว ผู้ป่วยมักจะยังคงทำหน้าที่ได้ตามปกติ ยกเว้นบางกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับความหลงผิด ผู้ป่วยอาจจะไม่รู้ตัวว่ามีอาการหลงผิด คนใกล้ชิดควรสังเกตอาการและแนะนำให้มารักษา
ประเภทของโรคจิตหลงผิด
- คิดว่าคนอื่นหลงรัก มักเป็นผู้มีชื่อเสียง (Erotomanic Type)
- เชื่อว่าตัวเองมีความสามารถเหนือกว่าคนอื่น มีความหยั่งรู้พิเศษ (Grandiose Type)
- คิดว่าคู่ครองนอกใจ (Jealous Type)
- ระแวงว่าถูกกลั่นแกล้ง สะกดรอย หมายเอาชีวิต (Persecutory Type)
- หลงผิดเกี่ยวกับร่างกายตัวเอง เช่น บางส่วนผิดรูปร่าง, อวัยวะไม่ทำงาน (Somatic Type)
ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง
- ด้านจิตใจ อาจเกิดจากการเลี้ยงดู
- ด้านสังคม เกิดจากสังคมที่เครียด กดดัน แข่งขันสูง ทำให้รู้สึกถูกคุกคาม จึงมีความระแวง
- ด้านชีวภาพ ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่พบว่าสัมพันธ์กับสมองส่วนควบคุมความเป็นเหตุผลและอารมณ์ความรู้สึก
จิตหลงผิดกับประสาทหลอนต่างกันอย่างไร?
จิตหลงผิดเป็นความผิดปกติในเนื้อหาของความคิด ส่วนประสาทหลอน เป็นการรับรู้ทางประสาทสัมผัสที่ผิดปกติ โดยไม่มีสิ่งกระตุ้นจากภายนอก เช่น หูแว่ว ได้ยินเสียงพูดทั้งที่ไม่มีใครพูด
ที่มา : ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล