จากเรื่องราวที่สร้างความภาคภูมิใจและความประทับใจให้กับพวกเราชาวไทยทุกคน เมื่อเพจเฟซบุ๊กยูเนสโกได้นำภาพ “โนรา” วัฒนธรรมของชาวไทยขึ้นปกเพจ น้องบัวบานก็เลยนึกขึ้นได้ว่า “โนรา” เป็นอีกหนึ่งคำที่สร้างความสับสนให้กับหลาย ๆ คนว่า จริง ๆ แล้ว คำคำนี้เขียนว่า “โนรา” “มโนราห์” หรือ “มโนห์รา” กันแน่ ไปหาคำตอบพร้อม ๆ กับน้องบัวบานกันเลยค่ะ
เฉลย “โนรา มโนราห์ และ มโนห์รา” ทั้ง 3 คำนี้ ถูกต้องทั้งหมด โดยทั้ง 3 คำ
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมาย เอาไว้ว่า เป็นคำนาม หมายถึง ศิลปะการแสดงพื้นเมืองอย่างหนึ่งของภาคใต้ มีแม่บทท่ารำอย่างเดียวกับละครชาตรี
ละครชาตรี คือ ละครต้นแบบของละครรำ เดิมเล่นกันเป็นพื้นบ้านทั่วไปในภาคใต้ มีทำนองเพลงร้องเป็นการเฉพาะ ใช้ตัวละครน้อย เดิมเป็นชายล้วน ตัวนายโรงจะแต่งตัวยืนเครื่องเสมอ ตัวละครที่ไม่สำคัญไม่แต่งตัวยืนเครื่อง กระบวนรำไม่สู้ประณีตนัก
“โนรา” ได้รับการยอมรับว่าเป็นศิลปะการแสดงอันวิจิตรงดงามที่ควรค่าแก่การเผยแพร่ให้ประชาคมโลกได้รับรู้ เป็นพิธีกรรมและศิลปะการแสดงพื้นบ้านที่ผูกพันกับภาคใต้ของประเทศไทยที่สืบทอดกันมายาวนาน และเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2564 ยูเนสโก (UNESCO) ได้ประกาศขึ้นทะเบียน “โนรา” หรือ “มโนราห์” เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติอย่างเป็นทางการ นับเป็นศิลปะการแสดงของไทย ลำดับที่ 3 ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโกให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ต่อจาก “โขน” ในปี 2561 และ “นวดไทย” ในปี 2562
แล้วพบกันใหม่กับ คำไทยรู้ไว้ใช้ถูกต้องและน้องบัวบานกันนะคะ
ขอบคุณภาพโนราจากหนังสือ โนรา : ศิลปะการร้อง รำ ที่ผูกพันกับชีวิต โดย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม
บทความอื่น ๆ ของน้องบัวบาน
- คำไทยรู้ไว้ ใช้ถูกต้อง : bit.ly/khamthai_BB
ป.ล. ก่อนจากกัน น้องบัวบานมีเว็บไซต์ดี ๆ มาฝากพี่ ๆ ทุกคนด้วยนะคะ
❤️คำทับศัพท์ใช้แบบไหน? เช็กได้ที่ระบบฐานข้อมูลคำทับศัพท์ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา https://transliteration.orst.go.th/search
❤️คำนี้เขียนถูกไหม? เช็กได้ที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 (ออนไลน์) https://dictionary.orst.go.th/