จากกรณี “เรือหลวงสุโขทัย” จมลงกลางทะเลอ่าวไทย หลังเผชิญคลื่นลมแรง เมื่อเวลา เวลาประมาณ 18.45 น. วันที่ 18 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา หลายคนคงได้ยินทั้งคำว่า “ล่ม” “จม” “อับปาง” แต่อาจจะยังไม่รู้ว่า 3 คำนี้ต่างกันอย่างไร วันนี้น้องบัวบานเลยขอนำความหมายของคำศัพท์จากข่าวมาฝากพี่ ๆ กันค่ะ ไปดูกันเลย
ความหมายของคำว่า “ล่ม” “จม” และ “อับปาง” ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ได้จัดเก็บความหมายของทั้ง 3 คำนี้ไว้ว่า
ล่ม เป็นคำกริยา มี 3 ความหมาย คือ
1. หมายถึง กิริยาที่ทรงตัวไม่อยู่ เอียงจนตะแคง คว่ำ หรือจม เช่น เรือล่ม เกวียนล่ม, ทำให้ตะแคง คว่ำ หรือจม เช่น ล่มเรือ
2. หมายถึง ได้รับความเสียหายมากเพราะน้ำท่วมหรือพายุพัดเป็นต้น เช่น นาล่ม สวนล่ม โป๊ะล่ม
3. หมายถึง ไม่สำเร็จ, ไม่รอดฝั่ง, เช่น โครงการล่ม.
จม เป็นได้ทั้งคำกริยาและคำวิเศษณ์ มี 3 ความหมาย คือ
1. เป็นคำกริยา หมายถึง หายลงไปหรืออยู่ใต้ผิวพื้น เช่น จมนํ้า จมดิน, โดยปริยายหมายความว่า เข้าลึก เช่น จมมีด จมเขี้ยว, หมกตัวหรือฝังตัวอยู่ เช่น จมอยู่ในห้องหนังสือ จมเลือด, ถอนทุนไม่ขึ้น เช่น ทุนจม, ยุบตัวลง เช่น สะบักจม
2. เป็นคำกริยา ใช้เรียกลวดลายที่ไม่เด่น ว่า ลายจม.
3. เป็นคำวิเศษณ์ ภาษาปาก หมายถึง มาก เช่น วันนี้มีการบ้านจมเลย.
อับปาง เป็นคำกริยา หมายถึง ล่ม, จม, แตก, (ใช้แก่เรือเดินทะเล)
คำว่า “ล่ม-จม-อับปาง” ต่างกันอย่างไร?
คำว่า “ล่ม” และ “อับปาง” เป็นคำกริยาที่ใช้กับพาหนะที่แล่นไปในน้ำหรืออยู่ในน้ำ มีความหมายว่า จม หรือ อยู่ในสภาพทรุดเอียงไม่สามารถแล่นต่อไปได้ เช่น เรือล่ม แพล่ม โป๊ะล่ม
คำว่า “ล่ม” นั้นใช้กับเรือขนาดเล็กโดยทั่วไปจนถึงเรือขนาดกลางรวมทั้งแพด้วย แต่คำว่า “อับปาง” จะใช้กับเรือเดินทะเลเท่านั้น
นอกจากใช้กับเรือแล้ว คำว่า “ล่ม” และ “อับปาง” ยังใช้ในความหมายเปรียบเทียบได้อีกด้วย โดยจะหมายถึง ประสบความล้มเหลว ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างปกติ
ส่วนคำว่า “จม” และ “อับปาง” นั้น น้องบัวบานได้สอบถามพี่ ๆ สำนักงานราชบัณฑิตยสภามาได้ความว่า คำว่า “อับปาง” นั้นใช้เฉพาะเรือเดินทะเล ส่วนคำว่า “จม” ใช้ได้กับเรือทุกประเภทรวมถึงเรือเดินทะเลด้วยค่ะ
สุดท้ายนี้ น้องบัวบานขอส่งกำลังใจให้พี่ ๆ ทหารเรือที่ได้รับบาดเจ็บทุกคนเลยนะคะ แล้วพบกันใหม่กับน้องบัวบานและคำไทยรู้ไว้ใช้ถูกต้องค่า
ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ล่ม-อับปาง (ออนไลน์). สืบค้นจาก http://legacy.orst.go.th/