สวัสดีค่ะทุกคน วันนี้น้องบัวบานมาทักทายพี่ ๆ ด้วยชื่อเรียก “ภัย” ต่าง ๆ ที่เราอาจคุ้นหูกันอยู่บ้าง จะมีภัยอะไรบ้าง คำไหนที่เคยได้ยินกันมาบ้าง ไปดูกันเลยค่ะ
คำว่า “ภัย” มาจากภาษาบาลีสันสกฤต พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายเอาไว้ว่า หมายถึง สิ่งที่น่ากลัว หรือ อันตราย
คำว่าภัยสามารถนำไปรวมกับคำอื่น ๆ ได้อีกด้วย กลายเป็นอันตรายที่มาจากสิ่งนั้น ๆ ได้แก่
- เมื่อรวมกับคำว่า “อุทก” (อ่านว่า อุ -ทก) แปลว่า น้ำ กลายเป็นคำว่า “อุทกภัย” (อ่านว่า อุ-ทก-กะ-ไพ) แปลว่า อันตรายที่เกิดจากน้ำท่วม
- เมื่อรวมกับคำว่า “วาต” (อ่านว่า วา-ตะ) แปลว่า ลม กลายเป็นคำว่า “วาตภัย” (อ่านว่า วา-ตะ-ไพ) แปลว่า อันตรายที่เกิดจากลมพายุ
- เมื่อรวมกับคำว่า “อัคคี” แปลว่า ไฟ กลายเป็นคำว่า “อัคคีภัย” แปลว่า อันตรายที่เกิดจากไฟไหม้
- เมื่อรวมกับคำว่า “ธรณีพิบัติ” แปลว่า หายนะที่เกิดแก่แผ่นดิน กลายเป็นคำว่า “ธรณีพิบัติภัย” (อ่านว่า ทอ-ระ-นี-พิ-บัด-ไพ) แปลว่า อันตรายที่เกิดจากแผ่นดินไหว ดินถล่ม สึนามิ หลุมยุบ เป็นต้น
- เมื่อรวมกับคำว่า “ทุพภิกข” (อ่านว่า ทุบ-พิก-ขะ) แปลว่า การขาดแคลนอาหารในบ้านเมือง กลายเป็นคำว่า “ทุพภิกขภัย” (อ่านว่า ทุบ-พิก-ขะ-ไพ) แปลว่า อันตรายที่เกิดจากการขาดแคลนอาหารในบ้านเมือง หรือข้าวยากหมากแพง
- เมื่อรวมกับคำว่า “โจร” (อ่านว่า โจน) แปลว่า ผู้ร้ายที่ลักขโมย หรือปล้นสะดมทรัพย์สินผู้อื่น กลายเป็นคำว่า “โจรภัย” (อ่านว่า โจ-ระ -ไพ) แปลว่าอันตรายที่เกิดจากการลักขโมยหรือปล้นสะดม
ขอบคุณข้อมูลจาก
- บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2554
- พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554
น้องบัวบานขอฝากอ่านบทความอื่น ๆ ของน้องบัวบานไว้ด้วยนะคะ : bit.ly/khamthai_BB
ป.ล. ก่อนจากกัน น้องบัวบานมีเว็บไซต์ดี ๆ มาฝากพี่ ๆ ทุกคนด้วยนะคะ
❤️คำทับศัพท์ใช้แบบไหน? เช็กได้ที่ระบบฐานข้อมูลคำทับศัพท์ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา https://transliteration.orst.go.th/search
❤️คำนี้เขียนถูกไหม? เช็กได้ที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 (ออนไลน์) https://dictionary.orst.go.th/