ช่วงนี้บริเวณยอดดอยอุณหภูมิลดลง ลุ้นเกิดเหมยขาบ น้องบัวบานเองก็อยากไปเที่ยวสัมผัสบรรยากาศความหนาวด้วยคนเลยค่ะ วันนี้น้องบัวบานเลยมีคำศัพท์รับอากาศหนาวมาฝากพี่ ๆ กันค่ะ “เหมยขาบ” และ “แม่คะนิ้ง” พี่ ๆ หลายคนคงเคยได้ยิน แล้วรู้ไหมคะว่าสองคำนี้ต่างกันอย่างไร? ไปหาคำตอบกับน้องบัวบานกันเลยค่ะ
‘เหมยขาบ’ เป็นภาษาไทยถิ่นเหนือ
‘แม่คะนิ้ง’ เป็นภาษาถิ่นพายัพและภาษาถิ่นอีสานบางถิ่น
เป็นคำเรียกละอองน้ำค้างที่กลายเป็นน้ำแข็งแผ่นบาง ๆ เกาะอยู่บนใบไม้ใบหญ้าในเวลาที่อากาศหนาวจัด หรือที่เรียกว่า “น้ำค้างแข็ง”
คำว่า ‘เหมยขาบ’ ประกอบด้วยคำว่า “เหมย” ซึ่งแปลว่า น้ำค้าง กับคำว่า “ขาบ” แปลว่า ชิ้นเล็ก ๆ
ดังนั้น “เหมยขาบ” ก็คือน้ำค้างแข็งแผ่นบาง ๆ นอกจากนี้ ภาษาไทยถิ่นเหนือยังเรียกไอน้ำที่แข็งตัวเพราะความเย็นจัดว่า “เหมยแขง” แต่ถ้าน้ำค้างที่ลงจัดจนเหมือนละอองฝน จะเรียกว่า เหมยช้าง (อ่านว่า เหฺมย-จ๊าง) คือน้ำค้างที่ลงหนักมากแข็งเป็นแผ่นใหญ่นั่นเองค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. เหมยขาบ. (ออนไลน์). สืบค้นจาก : http://legacy.orst.go.th/