X
“ใหลตาย” หรือ “ไหลตาย” | คำไทยรู้ไว้ใช้ถูกต้อง

“ใหลตาย” หรือ “ไหลตาย” | คำไทยรู้ไว้ใช้ถูกต้อง

25 มี.ค. 2565
24070 views
ขนาดตัวอักษร

“ใหลตาย” หรือ “ไหลตาย” ชื่อโรคที่หลายคนอาจยังสับสนและถกเถียงกันว่าแบบไหนกันแน่ที่เขียนถูกต้อง เพราะต่างกันแค่เจ้าสระไอ ไม้ม้วน และสระไอ ไม้มลาย จึงไม่รู้จะใช้อย่างไรดี วันนี้น้องบัวบานและ #คำไทยรู้ไว้ใช้ถูกต้องBB_MCOT จะพาทุกคนไปไขข้อสงสัยกันค่ะ

คำที่ถูกต้องคือ “ใหลตาย” ค่ะ

    คำว่า “ใหล” คำนี้เคยเป็นข้อถกเถียงในกรณีปัญหาของการสะกดคำของสำนักงานราชบัณฑิตยสภาเช่นกันค่ะ เนื่องจากเมื่อสืบค้นแล้วพบว่าเคยมีบันทึกคำที่มีความหมายว่า “นอนหลับเพ้อไป พูดในเวลาหลับ หรือละเมอ” ไว้ทั้งสองแบบคือ “ใหล” และ “ไหล”


    ต่อมาเมื่อคณะกรรมการชำระพจนานุกรมได้สอบค้นพจนานุกรมภาษาลาวเพิ่มเติมพบว่า พจนานุกรมภาษาลาว มีคำว่า ໃຫລ (ใหล) หรือ ເຫລີ (เหลอ) หมายถึง ละเมอ คำนี้ตรงกับคำภาษาไทยว่า ใหล ในคำว่า หลงใหล หลับใหล และใหลตาย โดยเก็บไว้ดังนี้


  • คำกริยา ໃຫລ (ใหล) 
  • ເຫລີ (เหลอ) คำกริยา เอิ้นหรือฮ้องในเวลานอนหลับหรือในเวลาตื่นตกใจจนหลงสติ.


    คำว่า “ใหล” อยู่ลำพังไม่ได้ ที่ใช้ไม้ม้วน ไม่ใช้ลำพัง ต้องใช้ซ้อนกับคำอื่น ได้แก่ ใช้ซ้อนกับคำว่า หลง เป็น หลงใหล  และซ้อนกับคำว่า หลับ เป็น หลับใหล คำว่า ใหล ที่ใช้ไม้ม้วนนี้น่าจะหมายถึงละเมอ เพราะในภาษาลาวมีคำว่า ໃຫລ (ใหล) สะกดด้วยสระไอ ไม้ม้วน หมายถึง ละเมอหรือพูดในเวลาเผลอ สติอย่างคนบ้าจี้ที่ถูก หลอกให้ตกใจแล้วพูดโพล่งออกมา และในภาษาไทขาวซึ่งเป็นภาษาของชาวไทที่อยู่ในสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม มีคำที่ออกเสียงคล้าย ๆ เหล่อ หมายถึง ละเมอ เช่น นอนเหล่อ หมายถึง นอนละเมอ   คำว่า เหล่อ ในภาษาไทขาว น่าจะเป็นคำเดียวกับคำว่า ใหล ในภาษาไทยและภาษาลาว.


ดังนั้น “ใหลตาย” ต้องใช้สระไอ ไม้ม้วน นะคะ แล้วพบกันใหม่กับน้องบัวบานและ #คำไทยรู้ไว้ใช้ถูกต้องBB_MCOT ค่ะ

ที่มา : จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน  ปีที่ 2 ฉบับที่ 17 พฤษภาคม 2533 และ รู้ รัก ภาษาไทย โดยสำนักงานราชบัณฑิตยสภา


บทความอื่น ๆ ของน้องบัวบาน

- คำไทยรู้ไว้ ใช้ถูกต้อง 👉🏻  bit.ly/khamthai_BB

Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล