เจ๋ง! ทีมนักวิจัยกรมอุทยานแห่งชาติฯ ค้นพบ 4 พืชใหม่ของโลก "หยาดวานรพักตร์" ดอกไม้หน้าลิงสุดแปลก ซ่อนในเขาหินปูนลพบุรี

9 ตุลาคม 2567 - นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า ทีมนักวิจัยจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลกในสกุลหยาด (Microchirita) จำนวน 4 ชนิด ซึ่งพบในพื้นที่จำกัดบนระบบนิเวศเขาหินปูนในจังหวัดสระบุรี ระยอง และลพบุรี หนึ่งในพืชชนิดใหม่ที่น่าสนใจคือ "หยาดวานรพักตร์" พบที่จังหวัดลพบุรี มีลักษณะเด่นคือดอกมีรูปร่างคล้ายหน้าลิง
.
การค้นพบครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพรรณพฤกษชาติประเทศไทย (Flora of Thailand) โดยนักวิจัยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ประกอบด้วย นางสาวนัยนา เทศนา นายพาโชค พูดจา นายธีรวัฒน์ ทะนันไธสง นายคุณานนต์ ดาวนุไร และนายสมราน สุดดี หน่วยงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช และนายเกริกวิทย์ ภูมิพยัคฆ์ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาสมโภชน์ จ.ลพบุรี ได้สำรวจและเก็บตัวอย่างตามวิธีการด้านพฤกษศาสตร์ ร่วมมือกับ Dr. David Middleton ผู้เชี่ยวชาญด้านพืชวงศ์ชาฤๅษี (Gesneriaceae) ในการตรวจสอบและยืนยันชนิด
.
ผลการศึกษาได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ Thai Forest Bulletin (Botany) ประจำปี 2024 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการกระจายพันธุ์ของพืชสกุลหยาด โดยพบถึง 41 ชนิดจากทั้งหมด 51-55 ชนิดทั่วโลก อย่างไรก็ตาม พืชชนิดใหม่ที่ค้นพบทั้ง 4 ชนิดนี้อยู่ในภาวะถูกคุกคามและใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากมีถิ่นที่อยู่อาศัยจำกัด ซึ่งเน้นย้ำถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ระบบนิเวศเขาหินปูนในประเทศไทย การค้นพบครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญของประเทศไทย และความจำเป็นในการศึกษาวิจัยเพื่อการอนุรักษ์พันธุ์พืชหายากต่อไป
สำหรับพืชชนิดใหม่ของโลกในสกุลหยาด (𝑀𝑖𝑐𝑟𝑜𝑐ℎ𝑖𝑟𝑖𝑡𝑎) จำนวน 4 ชนิด ที่ค้นพบในครั้งนี้ ได้แก่

1. หยาดวานรพักตร์ 𝑀𝑖𝑐𝑟𝑜𝑐ℎ𝑖𝑟𝑖𝑡𝑎 𝑠𝑖𝑚𝑖𝑎 D. J. Middleton, Thananth., Tetsana & Suddee พบบริเวณเขาหินปูน อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 30 ซม. ลำต้นอวบน้ำ สีม่วงแดงเข้มตลอดต้น มีขนสั้นหนาแน่น ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม ยกเว้นใบที่โคนต้น เรียงเวียน มีขนสั้นนุ่มหนาแน่นทั้ง 2 ด้าน หลอดกลีบดอกด้านนอกส่วนบนสีม่วงแดง ส่วนล่างสีเหลืองสด ด้านในแฉกกลีบดอกและหลอดกลีบดอกส่วนบนสีม่วงแดง ส่วนล่างมีแถบสีเหลืองสดและม่วงแดงเข้มสลับกัน โคนหลอดกลีบดอกด้านในมีเส้นสีม่วงจางและเข้มสลับกัน คำระบุชนิด ‘𝑠𝑖𝑚𝑖𝑎’ เป็นภาษาละตินที่หมายถึงลิง มาจากลักษณะของดอกที่ดูคล้ายหน้าลิงเมื่อมองจากด้านหน้า ตัวอย่างต้นแบบ 𝑇𝑒𝑡𝑠𝑎𝑛𝑎, 𝑃𝑢𝑢𝑑𝑗𝑎𝑎, 𝐾𝑒𝑟𝑑𝑘𝑎𝑒𝑤, 𝐻𝑒𝑚𝑟𝑎𝑡 & 𝐽𝑖𝑟𝑎𝑘𝑜𝑟𝑛 2785 เก็บรักษาไว้ที่หอพรรณไม้


