“ตกอเวจีปอยเปต แสนล้านชาติ แสนล้านภาพ ชั่วนิจนิรันดร์เดี๋ยวนี้ค่ะ” นาทีนี้น้องบัวบานเชื่อว่าพี่ ๆ หลายคนคงได้ยินกันมาบ้างแล้ว พอได้ยินแบบนี้ ก็เลยอยากพาพี่ ๆ มาทำความรู้จักกับ “มหาอเวจีนรก” ที่ไม่ได้อยู่ที่ปอยเปต แต่อยู่ที่ “โลกนรก” หรือ “นิรยภูมิ” ตามคติไตรภูมิกันค่ะ
“โลกนรก” หรือ “นิรยภูมิ” ตามคติไตรภูมินั้นเป็นส่วนหนึ่งของอบายภูมิหรือทุคติภูมิ 4 (ส่วนหนึ่งของกามภูมิ) มีนรกหลายขุมซ้อนทับกันหลายชั้น นิรยภูมิฃแบ่งเป็น “มหานรก” ที่มีด้วยกัน 8 ขุมใหญ่ ที่ตั้งซ้อนทับกันเป็นชั้น และแยกกันอย่างชัดเจนอยู่ลึกลงไปใต้โลกมนุษย์ของเรา
สำหรับ “มหาอเวจี” ที่ทุกคนได้ยินชื่อกันนั้น เป็นมหานรกที่ทั้งลึกและกว้างใหญ่ที่สุด เป็นนรกสำหรับผู้ทำกรรมหนัก “ปัญจานันตริยกรรม” ได้แก่ ฆ่าบิดา ฆ่ามารดา ฆ่าพระอรหันต์ ทำให้โลหิตพระพุทธเจ้าห้อเลือด และยุยงให้สงฆ์แตกกัน อายุของสัตว์นรกขุมนี้คือ 1 กัลป์ “มหาอเวจี” จะถูกล้อมด้วยกำแพงเหล็กที่เปลวไฟลุกท่วม สัตว์นรกจะถูกเพลิงเผาผลาญด้วยอิริยาบถต่าง ๆ ตามกรรมของตน ในห้องสี่เหลี่ยมและเหล็กเสียบทะลุร่างตรึงให้แน่นิ่งไม่สามารถขยับร่างกายได้
ภาพ : โลหกุมภีนรก (นรกหม้อเหล็กแดง)
ภาพ : เปรตจำพวกหนึ่งย่อมเอามือกอบข้าวลีบอันลุกเป็นไฟใส่บนหัวตนเองทุกเมื่อ เหตุเพราะเมื่อเป็นคนเขาเอาข้าวลีบปนข้าวดีไปลวงขายแก่ท่าน
1 กัลป์ นานแค่ไหน?
แน่นอนว่าระยะเวลาในนรกนั้นจะเปรียบเทียบกับเวลาในเมืองมนุษย์ของเราก็คงไม่ได้ แต่จะให้เห็นภาพ ในไตรภูมิกถาบรรยายเอาไว้ว่า ก็คงเปรียบเหมือนภูเขาเทือกหนึ่ง สูง 1 โยชน์ กว้างโดยรอบ 3 โยชน์ เมื่อถึง 100 ปี ถึงจะมีเทวดาองค์หนึ่งนำผ้าทิพย์ ที่บางอ่อนราวควันไฟมากวาดภูเขา แต่ละครั้งที่เทพยดากวาดภูเขาให้ราบเรียบลงเป็นแผ่นดินก็เรียกว่าสิ้นกัลป์หนึ่ง
บรรดาสัตว์ที่เกิดในมหาอวีจีนรกนั้นก็ยังไม่ครบ 1 กัลป์ ดังกล่าวแล้ว ถ้าไฟบรรลัยกัลป์ไหม้ก็จะไม่ไหม้คนนรก ทั้งนี้เพราะเมื่อไฟบรรลัยกัลป์ไหม้มาถึงมหาอวีจีนรก ก็จะมีลมชนิดหนึ่งเกิดจากบาปกรรมได้พัดพาตัวคนนรกไปยังนรกขุมอื่นซึ่งไฟยังไหม้ไปไม่ถึง ลมนี้พัดเร็วมาก เปรียบดังนกตัวหนึ่งจับอยู่บนต้นไม้สูงมาก ขณะเมื่อนกบินไปจากต้นไม้ก็จะเห็นเงานกตกลงกลางพื้นดินพร้อมกัน ไม่ทันรู้ว่านกและเงาของนกนั้น สิ่งไหนเกิดก่อนสิ่งไหนเกิดทีหลัง ตราบใดที่ยังไม่ครบกัลป์หนึ่ง คนนรกก็ยังไม่พ้นบาปตราบนั้น ดังเช่นบาปของพระเทวทัตซึ่งไหม้อยู่ในมหาอวีจีนรกนั้น
‘โลกมนุษย์’ ห่างจาก ‘มหาเอวจี’ แค่ไหน?
ระยะทางจากมนุษย์โลกถึงยมโลกคือ 140 โยชน์ จากยมโลกถึงมหาอวีจีนรกคือ 1,000 โยชน์ แผ่นดินที่เราอยู่นี้กว้าง 10,000 โยชน์ หนา 240,000 โยชน์ น้ำที่พยุงแผ่นดินไว้หนา 480,000 โยชน์ ลมซึ่งพยุงน้ำและดินไว้มิให้จม มิให้ไหวหนา 960,000 โยชน์ และนี่คือระยะห่างระหว่างที่อยู่ของโลกมนุษย์ และโลกนรก ที่อยู่ภายใต้เรานั่นเอง
ใครอยากลองอ่าน ‘ไตรภูมิกถา’ น้องบัวบาน หามาให้แล้วค่ะ