ศิลปะที่เกิดขึ้นในกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่ พุทธศักราช 2325 แบ่งพัฒนาการของศิลปะ ได้หลายช่วง ระยะแรก กันเป็นการสืบทอดมาจากศิลปะอยุธยาตอนปลาย มีอัตลักษณ์ เป็นลักษณะเฉพาะ คือ
พระพุทธรูปรัตนโกสินทร์ตอนต้น รัชกาลที่ 1-2 ในสมัยรัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธรูปที่ถูกทิ้งร้างตามหัวเมือง มาบูรณะปฏิสังขรณ์แล้วประดิษฐานตามพระอารามต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ พระพุทธรูปที่มีการสร้างขึ้นใหม่ ส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน โดยมีลักษณะที่สำคัญสืบทอดมาจากพระพุทธรูปสมัยอยุธยาคือ พระพักตร์อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยม มีความเคร่งขรึม การแสดงนิ้วพระหัตถ์ทั้ง เสมอกัน พระวรกายหนาใหญ่ บางครั้งฐานพระพุทธรูปเป็นฐานแอ่นโค้งเล็กน้อย แสดงให้เห็นถึงการถ่ายทอดงานจากศิลปะอยุธยามายังรัตนโกสินทร์ตอนต้น
นอกจากนี้ยังมี พระพุทธรูปรัตนโกสินทร์ตอนต้นพระพุทธรูปสำคัญที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อใช้ในพระราชพิธี คือ พระคันธารราฐ พุทธศตวรรษที่ 24
สร้างด้วยสัมฤทธิ์ มีลักษณะพระพักตร์กลม พระรัศมีเป็นดอกบัวตูม ครองจีวรตามแบบจีน พระหัตถ์ขวากวักเรียกเมล็ดฝน พระหัตถ์ซ้ายรองรับเมล็ดฝน นั่งขัดสมาธิราบ พระพุทธรูปองค์นี้มีพระพักตร์นิ่งดูอ่อนเยาว์
สมัยรัชกาลที่ 2 ห่างกันศึกสงครามจึงมีการฟื้นฟูภูมิปัญญาและองค์ความรู้จากปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาเริ่มมาถึงจุดอิ่มตัว ทรงปั้นหุ่นพระพักตร์ของพระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลกพระประธานในพระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม ในแบบที่เรียกว่า "พระพักตร์อย่างหุ่น" อันเป็นพระราชนิยม ส่วนพระองค์
รัชกาลที่๓ แสดงถึงลักษณะเฉพาะของพระพุทธรูปในสมัยรัตนโกสินทร์อย่างแท้จริง คือ พระวรกายของพระพุทธรูปบอบบางลง พระพักตร์อ่อนเยาว์ นิ่งสงบ แบบที่เรียกว่าพระพักตร์อย่างหุ่น อาจเป็นลักษณะที่เริ่มเกิดขึ้นแล้วตั้งแต่รัชกาลที่ 1 จนกลายมาเป็นรูปแบบเฉพาะในรัชกาลที่3
" ขมวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีเป็นเปลวค่อนข้างใหญ่ พระขนงเป็นสันยกขึ้นและเป็นแผ่นป้ายเล็กน้อยพระเนตรหรี่ลงต่ำ ไม่เรียวยาวและตวัดแบบสุโขทัย สังฆาฏิเป็นแผ่นใหญ่ยาวลงมาจรดพระนาภี ส่วนปลายแยกเป็นสองชายเป็นผ้าซ้อนและปลายม้วนเข้าหากัน มีริ้วผ้ามาซ้อนทับด้านบนอีกชั้นหนึ่ง สังฆาฏิอยู่กึ่งกลางพระวรกายอันเป็นลักษณะเฉพาะประการหนึ่งของสมัยรัตนโกสินทร์ที่แตกต่างจากพระพุทธรูปสมัยอื่น“
พระพุทธรูป สมัยรัชกาลที่ 4 เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบพระพุทธรูปอันเป็นพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การสร้างพระพุทธรูปแบบสัจนิยมกึ่งอุดมคติ นำหลักการแบบตะวันตกมาออกแบบ ภายใต้คติพระพุทธศาสนาแบบธรรมยุติกนิกายที่ทรงสถาปนาขึ้นเมื่อครั้งยังทรงผนวช พระพุทธรูปที่สร้างภายใต้คตินี้ มักมีขนาดใกล้เคียงกับมนุษย์ พระกรรณสั้น วรรณะนุ่มนวลไม่มีพระอุษณีษะ เหนือพระเศียรขึ้นไปเป็นรัศมีเปลว ครองจีวรแบบมอญที่มีริ้วจีวรแบบธรรมชาติ
พระพุทธรูป ในรัชกาลที่ 5 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แนวคิดในการสร้างพระพุทธรูปมีความหลากหลายมากขึ้น ได้แก่ การสร้างพระพุทธรูปสืบทอดตามแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่๔การสร้างพระพุทธรูปเลียนแบบศิลปะดั้งเดิม เช่น การสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องอย่างจักรพรรดิราช และการสร้างพระพุทธรูปให้เหมือนบุคคลจริง ในช่วงเวลานี้เองเริ่มมีศิลปินจากโลกตะวันตกเข้ามาสร้างสรรค์งานศิลปกรรมในสังคมไทย การผสมผสานองค์ความรู้ระหว่างเทคนิคการสร้างงานประติมากรรมแบบตะวันตกและคติการสร้างพระพุทธรูปแบบตะวันออกทำให้เกิดการสร้างพระพุทธรูปในแบบศิลปกรรมร่วมสมัย โดยเฉพาะฝีมือช่างหลวงจึงเป็นแบบสัจนิยมอย่างแท้จริงอาทิ พระพุทธรูปคันธารราฐ โดย อัลฟอนโซ ทอร์นาเรลลี เป็นต้น
ในขณะที่ช่างพื้นถิ่นทั่วไปสร้างพระพุทธรูปแบบประเพณี แบบที่มีพระอุษณีษะตามเดิมและให้ความสำคัญกับความงามเพิ่มเติมจากคติเรื่องการถ่ายทอดความศักดิ์สิทธิ์
พระพุทธรูปรัตนโกสินทร์พุทธศตวรรษที 25 มีการสร้างจำลองรูปแบบพระพุทธรูปโบราณที่งดงามขึ้นใหม่ โดยอาจมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับยุคสมัย หรือรสนิยมด้านความงามที่เปลี่ยนแปลงไป โดยพระพุทธูปที่สร้างขึ้นใหม่ส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูปในศิลปะสุโขทัย ซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนของพระพุทธรูปศิลปะไทยที่มีความงดงามลงตัวทางสุรียภาพมากที่สุด
พระพุทธรูป หลังรัชกาลที่ 5 - ปัจจุบัน เป็นช่วงเวลาของศิลปะร่วมสมัย ได้มีความพยายามจะสร้างพระพุทธรูปตามแนวคิดที่เหมือนจริงสืบต่อจากการสร้างพระพุทธรูปหลังสมัยรัชกาลที่ 4 และ รัชกาลที่ 5 เช่น การสร้างพระพุทธรูปลีลา พระประธานพุทธมณฑล ที่ออกแบบโดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีลักษณะ พระพุทธรูปยังอยู่บนพื้นฐานของแนวคิดระหว่างแบบประเพณีนิยมจากพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยกับแนวคิดแบบเหมือนจริง โดยเฉพาะลักษณะพระพักตร์และพระวรกายยังคงเป็นแบบอุดมคติ ส่วนการครองจีวรและ สังมาฏิเป็นริ้วแบบธรรมชาติ พระพักตร์แสดงความรู้สึกเสมือนจริง
การพัฒนารูปแบบพระพุทธรูปไทยประเพณีมีความเสือมคลายลงไปเป็นการสร้างพระพุทธรูปในเชิง พุทธพาณิชย์มากยิ่งขึ้นโดยมักสร้างหรือจำลองพระพุทธรูปสำคัญให้คนมากราบไหว้สักการบูชา หรือสร้างเลียนแบบหรือสร้างตามเค้าโครงแบบพระพุทธรูปโบราณ เช่น พระพุทธรูปอู่ทอง พระพุทธรูปสุโขทัย พระพุทธรูปล้านนา ซึ่งเชื่อว่าทำให้เกิดความสุข ความเจริญ ความมั่งคั่งร่ำรวย เพื่อส่งเสริมศรัทธาในหมู่พุทธศาสนิกชน
มีโอกาสเลียบพระอารามรอบเกาะรัตนโกสินทร์จะได้ชมความงามของพระพุทธรูปที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครที่ความงามไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าสมัยสุโขทัยหรืออยุธยาเลย หากต่ายมีความเป็นตัวของตัวเองสะท้อนอัตลักษณ์ของยุคสมัยใหม่แต่ยังคงความศรัทธาและงดงามตามแบบอย่างของพระพุทธศาสนา