X
“ใหล” กับ “ไหล” | คำไทยรู้ไว้ใช้ถูกต้อง

“ใหล” กับ “ไหล” | คำไทยรู้ไว้ใช้ถูกต้อง

25 มี.ค. 2565
46980 views
ขนาดตัวอักษร

“ไหล” กับ “ใหล” คำที่มักสร้างความสับสนให้กับหลาย ๆ คน เพราะเจ้าสองคำนี้ออกเสียงเหมือนกัน แต่เขียนต่างกันแค่สระใอ ไม้ม้วน และสระไอ ไม้มลาย วันนี้น้องบัวบานและ #คำไทยรู้ไว้ใช้ถูกต้องBB_MCOT จึงขอนำคำอธิบายง่าย ๆ มาฝากทุกคนกันค่ะ


คำว่า “ไหล”

คำนี้พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2554 บัญญัติเอาไว้มีหลายความหมายค่ะ คือ

1. เป็นคำนาม หมายถึง ชื่อปลารูปร่างกลมยาวและเคลื่อนที่คล้ายงู มีหลายวงศ์ในหลายอันดับ ส่วนใหญ่ไม่มีเกล็ด มีเมือกมาก เช่น ไหลนาหรือไหลบึงค่ะ

2. เป็นคำนาม หมายถึง ส่วนของพืชบางชนิด ซึ่งเลื้อยชอนไปแตกเป็นหน่อขึ้น เช่น บอน บัว, หางไหล ในความหมายนี้น้องบัวบานคิดว่าพี่ ๆ ที่เป็นสายอาหารรสแซ่บต้องเคยสั่ง “ตำไหลบัว” มารับประทานกันบ่อย ๆ แน่เลย

3. ความหมายที่สายมูคงได้ยินกันบ่อย ๆ คือคำนาม หมายถึง โลหะชนิดหนึ่ง เชื่อกันว่าเอาไฟเทียนลนก็ไหลย้อยออกได้ หรือที่เราเรียกกันว่า เหล็กไหล นั่นเองค่ะ

4. เป็นคำกริยา หมายถึง เคลื่อนที่ไปอย่างของเหลวเช่นนํ้า ที่เรามักพูดหรือเขียนกันว่า น้ำไหล หรือหมายถึงเลื่อนไปค่ะ


คำว่า “ใหล”

คำนี้เคยเป็นข้อถกเถียงในกรณีปัญหาของการสะกดคำของสำนักงานราชบัณฑิตยสภาเช่นกันค่ะ เนื่องจากเมื่อสืบค้นแล้วพบว่าเคยมีบันทึกคำที่มีความหมายว่า “นอนหลับเพ้อไป พูดในเวลาหลับ หรือละเมอ” ไว้ทั้งสองแบบคือ “ใหล” และ “ไหล”

ต่อมาเมื่อคณะกรรมการชำระพจนานุกรมได้สอบค้นพจนานุกรมภาษาลาวเพิ่มเติมพบว่า พจนานุกรมภาษาลาว มีคำว่า ໃຫລ (ใหล) หรือ ເຫລີ (เหลอ) หมายถึง ละเมอ คำนี้ตรงกับคำภาษาไทยว่า ใหล ในคำว่า หลงใหล หลับใหล และใหลตาย โดยเก็บไว้ดังนี้

  • ใหล คำกริยา เหลื.
  • เหลื คำกริยา เอิ้นหรือฮ้องในเวลานอนหลับหรือในเวลาตื่นตกใจจนหลงสติ.

คำว่า “ใหล” นี้ใช้เดี่ยว ๆ ไม่ได้นะคะ จะต้องใช้ซ้อนกับคำอื่น เช่น ใช้ซ้อนกับคำว่า “หลง” เกิดเป็นคำว่า “หลงใหล”  หรือซ้อนกับคำว่า “หลับ” เกิดเป็นคำว่า “หลับใหล” นั่นเองค่ะ


น้องบัวบานสรุปง่าย ๆ หากเป็นคำที่หมายถึงการเคลื่อนที่ไป เราจะใช้ “ไหล” เช่น น้ำไหล หรือเป็นคำนามเช่น เหล็กไหล ไหลบัว ปลาไหล ส่วนคำว่า “ใหล” เราจะใช้ซ้อนกับคำอื่น เช่น หลับใหล หลงใหล ใหลตาย ค่ะ แล้วพบกันใหม่กับน้องบัวบานและ #คำไทยรู้ไว้ใช้ถูกต้องBB_MCOT นะคะทุกคน


ขอบคุณที่มา : จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน  ปีที่ 2 ฉบับที่ 17 พฤษภาคม 2533 และ รู้ รัก ภาษาไทย โดยสำนักงานราชบัณฑิตยสภา



บทความอื่น ๆ ของน้องบัวบาน

- คำไทยรู้ไว้ ใช้ถูกต้อง 👉🏻  bit.ly/khamthai_BB

Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล