X
อยุธยา, อยุทธยา, อโยธยา คำไหนเขียนถูกต้อง? | คำไทยรู้ไว้ใช้ถูกต้อง

อยุธยา, อยุทธยา, อโยธยา คำไหนเขียนถูกต้อง? | คำไทยรู้ไว้ใช้ถูกต้อง

22 ก.ย. 2566
27200 views
ขนาดตัวอักษร

“อยุธยา” หรือ “อยุทธยา” หลาย ๆ คนคงเคยเห็นวิธีการเขียนทั้งสองแบบนี้มาแล้วจนอาจเกิดความสับสนว่า การสะกดแบบไหนคือการสะกดที่ถูกต้อง วันนี้น้องบัวบานหาคำตอบมาฝากทุกคนแล้วค่ะ

คำว่า “อยุธยา” มาจากไหน?


ภาพ “ยูเดีย” (อาณาจักรอยุธยา) วาดโดยโยฮันเนส วิงโบนส์ (Johannes Vingboons) ต้นสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

    คำว่า อยุธยา มาจากชื่อเมือง "อโยธยา" (अयोध्या อักษรเทวนาครี ถอดได้ว่า อโยธฺยา) ของพระรามในรามายณะ วรรณคดีประเภทมหากาพย์ของอินเดีย แปลว่า (เมืองที่ศัตรู)ไม่อาจรบชนะได้ โดยข้อมูลจากบทละครเรื่องรามเกียรติ์ ในพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ก็ได้กล่าวถึงประวัติของเมือง “อยุธยา” ไว้ว่าเป็นเมืองที่ตั้งขึ้นตอนที่พระอินทร์สร้างเมืองให้แก่กุมารซึ่งเกิดจากดอกบัวที่พระอุทรของพระนารายณ์

    พระอินทร์ทรงเลือกสถานที่ที่ฤๅษี 4 ตนบำเพ็ญพรตอยู่ คือ ฤๅษีอจนคาวี (อะ-จะ-นะ- คา-วี)  ฤๅษียุคอัคร (ยุก-อัก-คฺระ) ฤๅษีทหะ (ทะ- หะ) และ ฤๅษียาคะ พระอินทร์ให้พระวิษณุกรรมนิรมิตเมืองขึ้นที่นั่น และนำเสียงอักษรตัวหน้าของชื่อฤๅษีทั้งสี่นั้นมาประสมกันจนได้เป็นคำว่า “อยุธยา” แปลว่า ไม่พ่ายแพ้ ไม่มีใครปราบได้

    แนวคิดการตั้งชื่อเมืองที่ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียนั้นมีมานานแล้ว ชื่อ “กรุงศรีอยุธยา” เองก็ได้รับอิทธิพลนี้มาเช่นกัน ดังที่พบจากหลักฐาน จารึกวัดเขากบ ซึ่งเป็นจารึกในสมัยพุทธศักราช 1920 ได้มีการกล่าวถึงชื่อราชธานี “อโยธยา” ไว้ด้วยว่า “...อโยทยาสรีรามเทพนครทิสอรพีรูณาสตรงปาดาล…”

“อยุธยา” กับการเขียนที่แตกต่าง

คำว่า “อยุธยา” นั้นมีการเขียนปรากฏหลากหลายรูปแบบนอกเหนือจาก “อโยธยา” แล้ว ยังพบ “อยุทธยา” ที่พบใน พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ เป็นพงศาวดารเก่าแก่ที่บันทึกในสมัยกรุงศรีอยุธยา นักประวัติศาสตร์มีความเห็นว่า สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงรับสั่งให้จดบันทึกเหตุการณ์เกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยาเอาไว้ ในพระราชพงศาวดารกรุงเก่านี้พบว่ามีการเขียนคำว่าอยุธยา ว่า “กรุงพระนครศรีอยุทธยา”

ไฟล์:พระราชพงษาวดารฯ ฉบับหลวงประเสริฐฯ - ๒๔๕๐.pdf

เปลี่ยนจากอยุทธยา เป็น “อยุธยา”

เนื่องด้วยแต่เดิมนั้นมีการใช้ทั้งคำว่า “อโยธยา” “อยุทธยา” และ “อยุธยา” ปะปนกันไปอย่างหลากหลาย ไม่ได้มีการทักท้วงหรือระบุการใช้งานที่ถูกต้อง เนื่องจากยังไม่มีการตั้งเกณฑ์การสะกดคำ ก่อนที่จะมีการออกประกาศราชกิจจานุเบกษา ฉบับวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2462 ให้แก้ไขคำว่า “อยุทธยา” เป็น “อยุธยา” โดยระบุไว้ดังนี้

            “....ราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๓๕ ตอนที่ ๕๑ พ.ศ. ๒๔๖๑ ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องเปลี่ยนนามมณฑลกรุงเก่าแลจังหวัดกรุงเก่ากับตอนที่ ๕๒ ในประกาศทรงขอบใจราษฎร น่า ๓๗๗๓ คำว่า อยุทธยา นั้นยังผิด ที่ถูกให้แก้เปน อยุธยา ดังนี้ทุก ๆ แห่ง…”


ขอบคุณข้อมูลจาก

  • พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์. (2450). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ไทย.
  • ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. จารึกวัดเขากบ. (ออนไลน์). สืบค้นจาก bit.ly/3kuB3vT 
  • สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย”  ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๗ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น. สืบค้นจาก bit.ly/3zAp1aR 
  • สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย”  ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๗ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น. สืบค้นจาก bit.ly/3yl9F8G
Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล