ความทรงจำเกี่ยวกับ "สนามหลวง" ขึ้นอยู่กับอายุของคนที่เคยมีความทรงจำและเห็นความเปลี่ยนแปลงของสนามหลวง ถ้าคนที่อายุ 50 ปีขึ้นไปจะทำการเป็นตลาดที่ขายทุกสรรพสิ่ง ที่แข่งและเล่นว่าว ถ้ายิ่งอายุมากกว่านั้นจะทันเห็นอะไรต่อมีอะไรมากมาย ลองมาย้อนดูกันว่า สนามหลวง เคยทำหน้าที่อะไร ทำไมยังไง ถึงกลายมาเป็นสนามโล่งๆ แบบวันนี้ ไม่ต้องนานมาก ย้อนไปสักสองร้อยกว่าปีก็แล้วกัน นึกภาพตามไปนะครับ
ก่อนการสร้างพระนครที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ณ ที่ปัจจุบัน ตรงพระบรมมหาราชวัง เป็นนาตม หรือท้องนา มีชาวจีนอยู่มาก บัญชาการโดยพระยาโชฎึกราชเศรษฐี เมื่อจะสร้างพระบรมมหาราชวัง จึงให้ชาวจีนย้ายไปที่คลองสามเพ็ง คือ สำเพ็งในเวลานี้ เมื่อสร้างพระบรมมหาราชวัง แล้ว จึงให้สร้างพระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้าขึ้น ตรงที่ผืนใหญ่หน้าวังหลวง วังหน้านั้นอยู่ตรงที่เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกินอาณาเขตของสนามหลวงปัจจุบันขึ้นมา คนสมัยก่อนจะคิดว่าสนามหลวงเดิมใหญ่เท่ากับสนามหลวงที่เราเห็นทุกวันนี้ ความจริงอาณาเขตวังหน้านั้นกินพื้นที่กว้างมาก ลองไปยืนที่มุมแนวกำแพงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ติดกับวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เอาตรงมุมถนนพอดีหันหน้าไปทางสนามหลวงแล้วลากเส้นยาวตรงๆ ขึ้นไปบนท้องสนามหลวงเกือบๆ จะถึงฝั่งที่ใกล้กับศาลยุติธรรม แล้วลากเส้นไปทางซ้ายไปทางวัดชนะสงคราม นั่นแหละวังหน้า
แบ่งอาณาเขตกันแบบนี้ เพื่อให้เห็นภาพ ส่วนทางขวาของสนามหลวง (หันหน้าไปทางศาลยุติธรรม ) คือสนามหลวงหรือทุ่งพระเมรุ พื้นที่ของวังหลวง ใช้ประกอบพระราชพิธีพระบรมศพ หรือพระศพของเจ้านายชั้นสูง (ขุนนางและคนธรรมดาไม่มีสิทธิประกอบงานศพในเขตกำแพงพระนคร ต้องทำศพออกทางประตูผี ข้างวัดราชนัดดารามวรวิหาร) ออกไปทำศพแถววัดสระเกศ ตอนหนังตรงนี้มีการสร้างเมรุปูนขึ้นสำหรับขุนนาง คนธรรมดาไปตามวัด ) ตรงฝั่งที่เป็นพื้นที่วังหน้าบนสนามหลวงทุกวันนี้ พูดง่ายให้คือฝั่งซ้าย (หันหน้าไปทางศาลยุติธรรมเหมือนเดิม) เป็นที่ซ้อยรบของวังหน้า มีที่โล่งกว้าง สำหรับให้ทหารฝึกการรบ มีการสร้างพลับพลาสูงเอาไว้เพื่อทอดพระเนตรการซ้อมรบ
(พลับพลาสูง ชมการซ้อมรบ :นิทรรศการ วังน่านิมิต)
ตอนนั้น ไม่มีสะพานพระปิ่นเกล้าแบบตอนนี้ ตรงสะพานเป็นคลองเข้ามาในตัวเมืองตรงปากคลองอยู่ข้างวังหน้าคือท่าช้างวังหน้า (อยู่ตรงบริเวณใต้สะพานพระปิ่นเกล้า) คลองที่เข้ามาเป็นเส้นทางสัญจรและลำเลียงสินค้า โดยเฉพาะข้าว ไปส่งตรงสะพานช้างโรงสี ... เดี๋ยวจะไปไกลถึงวัดสุทัศน์ ฯ กลับมาที่สนามหลวง สนามหน้าพระบรมมหาราชวังถูกเรียกว่าทุ่งพระเมรุเพราะเป็นที่ตั้งพระเมรุของเจ้านาย ตรงสนามหลวงไม่ได้เป็นทุ่งพระเมรุตลอดเวลา มีการใช้พื้นที่ปลูกข้าว และกลายเป็นนาหลวงอยู่หลายครั้ง จนปัจจุบันเวลาจะประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญก็ทำการประกอบพิธีในที่สนามหลวง
เหตุผลของการเป็นนาปลูกข้าวในสมัยรัชกาลที่สาม มาจากไทยรบกับญวณ เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่าไทยมีความอุดมสมบรูณ์ ข้าวปลาอาหารบริบรูณ์พร้อมที่จะทำสงครามกับญวณ ขนาดหน้าพระบรมมหาราชวังยังเป็นสถานที่ทำนา ในหนังสือเก่าเล่าว่า ตอนนั้นสนามหลวงเป็นที่ลุ่มกว่าปัจจุบัน เวลาทำนาต้องไขน้ำเข้านา คือผันน้ำเอามาจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาทำนาแล้วให้ปลูกพลับพลาไว้ใกล้พระบรมมหาราชวังทางทิศตะวันตก ว่ากันว่า การทำงานโชว์ข้าศึกนั้น เอาแบบมาจากชาดกเรื่องมหานิบาต มีพระมโหสถเป็นราชา ครั้งโดนข้าศึกมาล้อมเมืองจึงให้ชาวเมืองปลูกข้าวในกระบอกไม้ไผ่ พอได้ผลแล้วเอาไปโชว์ข้าศึกเป็นเครื่องแสดงว่า อยากล้อมก็ล้อมไปจ้างก็ไม่อดตาย การทำนานที่ท้องสนามหลวงนั้น ยังทำกันมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยให้นาที่ทำเป็นนาหลวง แม้จะไม่มีราชการสงครามก็ตาม โดยรัชกาลที่ 4 ท่านไม่โปรดฯให้คนเรียกที่หน้าพระบรมมหาราชวังว่า ทุ่งพระเมรุ จึงออกประกาศให้เรียกที่ตรงนั้นว่า สนามหลวงมาแต่บัดนั้น
ติดตามเรื่องสนามหลวงในตอนต่อไป เมื่อเป็นสนามหลวงแล้วสนามหลวงทำหน้าที่เป็นอะไรบ้าง จึงผ่านกาลเวลามาเป็นสนามหลวงในวันนี้